อ่านบทความ 4 เคล็ดลับที่จะช่วยให้คุณสามารถฟื้นฟูตัวเองจากภาวะเสพติดไปพร้อมกันกับการปฏิบัติหน้าที่ของพ่อแม่ที่ดี

4 เคล็ดลับของการเป็นพ่อแม่ที่ดีหลังเลิกการเสพติด

คุณรู้ดีว่าการกลับมามีสติที่แจ่มใสจากการเลิกเสพติด นับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด ทั้งสำหรับตัวเองและครอบครัวของคุณเป้าหมายต่อไปคือการเป็นพ่อแม่ที่ดีพร้อมๆกับการดูแลตัวเองไม่ให้หวนกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมอีก ความรู้สึกเหมือนเกิดใหม่หลังจากการเลิกยาเสพติด เป็นอะไรที่สร้างความสุขให้ทั้งคุณและครอบครัว แต่ทว่าเมื่อคุณต้องทำหน้าที่เลี้ยงลูกพร้อมกับการฟื้นฟูตัวเองจากการเสพติด นั่นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ผลที่ได้รับก็ถือว่าคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง 

การทำหน้าที่พ่อแม่ในช่วงการฟื้นฟูตัวเองจากการเสพติดเป็นความท้าทายอย่างใหญ่หลวง เพราะไม่เพียงแต่คุณจะต้องสร้างแนวทางในการดำเนินชีวิตใหม่ให้กับตัวเอง คุณก็ยังต้องรับผิดชอบในการดูแลลูกๆ อีกด้วย ทั้งนี้ หากการเสพติดของคุณส่งผลกระทบร้ายแรงต่อลูกๆของคุณ คุณก็มีหน้าที่เพิ่มเติมในการเยียวยาพวกเค้าพร้อมกันด้วย

ถึงแม้จะไม่มีใครกล้าพูดว่า การฟื้นฟูตัวเองจากการเสพติดไปพร้อมกับการทำหน้าที่พ่อแม่เป็นเรื่องง่าย แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันดีถึงผลประโยชน์อันมหาศาลที่จะได้จากการใช้ชีวิตอย่างมีสติของคุณ ไม่เพียงต่อตัวคุณเอง แต่ต่อครอบครัวของคุณด้วย การเอาชนะการเสพติดของคุณจะทำให้ความสัมพันธ์ของคุณกับลูกๆ แน่นแฟ้นขึ้น และยังจะช่วยให้คุณสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้แก่ตัวเองและครอบครัวอีกด้วย ลองใช้เคล็ดลับต่อไปนี้ในการรับมือกับความท้าทายของการฟื้นฟูตัวเองไปพร้อมกับการทำหน้าที่พ่อแม่

เคล็ดลับที่ 1: ดูแลตัวเองให้ดี

ในฐานะของพ่อแม่ที่เป็นผู้เสพติด อาจจะมีหลายครั้งที่สิ่งที่คุณเลือกนั้น เป็นไปเพื่อสนองตอบต่อความต้องการสารเสพติดของตัวเอง มากกว่าจะเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกๆ ซึ่งนี่เป็นความจริงอันโหดร้ายและเจ็บปวดของการพึ่งพิงสารเสพติด และในขณะที่คุณกำลังสลัดตัวเองให้เป็นอิสระจากกับดักนี้ คุณก็อาจต้องต่อสู้กับความรู้สึกผิดที่ไม่ได้อยู่เคียงข้างลูกๆ และการก้าวผ่านกระบวนการทางอารมณ์เหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเยียวยาตัวเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ อย่าให้ความรู้สึกผิดทำให้คุณทำทุกอย่างอย่างสุดโต่ง ด้วยการทุ่มเทพลังงานทั้งหมดของตัวเองเพื่อลูกๆ เพราะในระหว่างการฟื้นฟูตัวเองของคุณนั้น คุณเองก็ต้องการเวลาเพื่อให้ตัวเองได้ผ่อนคลาย หรือฝึกฝนวิธีการรับมือที่เป็นทางเลือกใหม่เพื่อคงความมีสติของตัวเองอย่างยั่งยืน ซึ่งอาจจะเป็นการใช้เวลาออกไปวิ่งออกกำลังกาย ทำงานอดิเรก หรือเข้าคลาสโยคะ ดังนั้น สิ่งที่คุณควรต้องตั้งเป้าก็คือการสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการของตัวเองกับความต้องการของลูก เพราะนั่นเป็นพื้นที่ที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จได้ทั้งการดูแลครอบครัว และการเลิกเสพติด

เคล็ดลับที่ 2: ใช้เวลากับลูกๆ อย่างมีเป้าหมาย

การเอาชนะการเสพติดทำให้คุณได้รับเวลาที่เคยถูกครอบงำด้วยอำนาจของสิ่งเสพติดคืนมา ซึ่งนอกจากคุณจะใช้เวลาเหล่านี้ในการประคับประคองตัวเองจากการเลิกเสพติดเอาไว้ให้ได้ คุณก็ยังสามารถใช้เวลาเหล่านี้ในการสร้างความสัมพันธ์ต่างๆขึ้นมาใหม่ จากที่เคยถูกทำลายเนื่องมาจากการเสพติด

สำหรับลูกๆ ของคุณแล้ว ช่วงเวลาเหล่านี้ก็คือการสร้างสายใยกับลูกๆ ด้วยการสนับสนุนสิ่งที่ลูกๆ สนใจ อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำได้ง่ายๆ อย่างการทำงานศิลปะด้วยกัน การชวนกันออกไปขี่จักรยาน การดูหนังที่เด็กๆ ชื่นชอบด้วยกันอย่างจริงจัง การทำอาหารด้วยกัน หรือแม้แต่การพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ ถามคำถามและฟังในสิ่งที่เด็กๆ อยากจะพูดอย่างตั้งใจด้วยความอดทน สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะเริ่มสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับลูกๆ แต่ยังสร้างความไว้วางใจขึ้นมาใหม่ และทำให้เวลาที่อยู่ด้วยกันนั้นมีความหมายยิ่งขึ้น

  • อย่าลืมพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง

สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักในครอบครัวในยุคนี้ก็คือ การมีตารางเวลาที่แน่นขนัดเกินไป จากการพยายามทำให้ลูกๆ ได้รับโอกาสและสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งอาจหมายถึงการต้องขับรถรับส่งลูกไปเข้าชั้นเรียนและทำกิจกรรมต่างๆ จนสามารถทำให้เหนื่อยล้าทั้งพ่อแม่และลูก รวมถึงทำให้ไม่มีเวลาว่างเพื่อการฟื้นฟูตัวเอง

เพราะฉะนั้นควรจำไว้ว่า การได้อยู่บ้านและมีเวลาเป็นของตัวเองนั้นไม่เพียงแต่จะเป็นความสุขอย่างหนึ่ง แต่ยังสำคัญต่อสุขภาพจิตของคุณด้วย ถ้าตารางเวลาที่แน่นขนัดดูจะเป็นสิ่งที่คุณต้องดิ้นรนจนเกินไป ลองหาทางที่จะลดกิจกรรมของครอบครัวลงบ้าง เพื่อคุณจะได้มีเวลาในการฟื้นฟูตัวเอง

เคล็ดลับที่ 3: จงรับผิดชอบและเปิดใจ

พ่อแม่แต่ละคนที่อยู่ในช่วงของการเลิกเสพติดอาจมีวิธีในการมีส่วนร่วมกับลูกๆ ที่แตกต่างกัน แต่สำหรับพ่อแม่ทุกคนแล้ว การพูดคุยกับลูกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก โดยปกติแล้วการเสพติดเป็นเรื่องของการมีความลับและการแยกตัวเองจากผู้อื่น และไม่ว่าลูกของคุณจะเข้าใจอย่างชัดเจนในสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ส่วนหนึ่งของการเอาชนะการเสพติดก็คือการเปิดใจ และจริงใจต่อลูกๆ เกี่ยวกับการเลิกเสพติดของคุณ

แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือ อย่าเปิดเผยทุกอย่างมากเกินไป ก่อนหน้านี้ในช่วงของการเสพติด คุณอาจเคยพึ่งพิงทางอารมณ์กับลูกๆ มากจนเกินไป ซึ่งอาจสร้างภาระที่ติดตัวให้เด็กๆ ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ได้ เพราะฉะนั้นบทสนทนาของคุณในตอนนี้ จึงควรเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ลงลึกจนเกินไปในเรื่องของตัวเอง แต่ให้เน้นไปในส่วนที่เกี่ยวกับเด็กๆ มากกว่า หากไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นพูดอย่างไร ลองใช้ 2-3 เรื่องต่อไปนี้ในการพูดคุยดู

  • แสดงความรับผิดชอบต่อการเสพติดของคุณ อธิบายว่าคุณเคยไม่รู้มาก่อนเลยว่าปัญหาของการเสพติดของคุณนั้นใหญ่แค่ไหนหรือมีผลกระทบต่อลูกๆอย่างไร แต่ตอนนี้คุณเข้าใจแล้วว่าคุณต้องเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังเพื่อที่จะเป็นพ่อแม่ที่ดียิ่งขึ้น สำหรับลูกที่ยังเล็กอยู่ ลองอธิบายว่าการเสพติดเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ต้องรักษาเพื่อให้สุขภาพดีขึ้น
  • การขอโทษ นี่เป็นส่วนสำคัญของการรับผิดชอบ และการรับรู้ถึงความเจ็บปวดที่คุณอาจทำให้เกิดกับลูกๆ ในระหว่างการเสพติดของคุณ ถ้าเป็นลูกที่โตแล้ว คุณอาจต้องจัดเวลาที่จะพูดคุยกันอย่างจริงจัง แต่สำหรับลูกที่ยังเล็กอยู่ ควรพยายามทำให้เป็นธรรมชาติที่สุดอย่างเช่นการพูดว่า “พ่อ/แม่ขอโทษที่เมื่อก่อนไม่เคยได้อ่านนิทานให้ลูกฟังเลย” ในขณะที่ส่งลูกเข้านอน การพูดคุยและขอโทษยังเป็นพื้นที่ที่ลูกของคณจะได้ซึมซับและไตร่ตรองอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองกับคุณ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่งในการสร้างความไว้วางใจระหว่างกันขึ้นมาใหม่
  • บอกลูกๆ ว่าการเสพติดของคุณไม่ใช่ความผิดของพวกเขา นี่อาจดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ชัดเจน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเสพติดของพ่อแม่มักทำให้เด็กจำนวนมากมักกล่าวโทษตัวเองอยู่ในใจ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่จะต้องบอกให้ลูกๆ รับรู้ว่า การเสพติดและพฤติกรรมต่างๆ ของคุณนั้นไม่เกี่ยวอะไรกับลูกๆ เลย พูดคุยกับลูกๆ จนคุณรู้สึกว่าลูกเข้าใจอย่างแท้จริง นี่ถือเป็นการเยียวยาลูกๆ ของคุณอีกด้วย

เคล็ดลับที่ 4: รับรู้สัญญาณเตือนของการเสพซ้ำที่กำลังจะเกิดขึ้น

แน่นอนว่าการคงความมีสติของตัวเองได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ สำหรับสุขภาพของคุณ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การรับรู้ว่าสำหรับบางคนแล้ว การเสพซ้ำเป็นส่วนหนึ่งของการเลิกเสพติด การรับรู้ถึงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการเสพซ้ำจะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ และเป็นสัญญาณที่บอกว่าคุณอาจต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมในระหว่างการฟื้นฟูตัวเองจากการเสพติดนี้ สัญญาณเตือนการเสพติดที่พบได้บ่อยก็อย่างเช่น

  • ความเบื่อหน่ายอย่างต่อเนื่อง การขาดความสนใจหรือขาดความกระตือรอร้นต่อการใช้ชีวิต
  • ความรู้สึกถึงอารมณ์ที่ขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลา
  • การขาดความมั่นใจในตัวเอง หรือไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง
  • การมีปัญหาทางการเงิน
  • ความรู้สึกขาดที่พึ่งพิง หรือแรงสนับสนุน

หากคุณสังเกตเห็นสัญญาณบางอย่างเหล่านี้ ควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเสพติดในทันที ซึ่งจะสามารถช่วยให้คุณกลับมาสู่การฟื้นฟูตัวเองได้ดังเดิม ไปพร้อมกับการทำหน้าที่พ่อแม่ที่ดีแก่ลูกๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

ค้นพบการสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบที่เดอะดอว์น

สถานบำบัดยาเสพติด เอกชน เดอะดอว์น เชียงใหม่ ช่วยให้ผู้เสพติดยาไอซ์ เลิกยาไอซ์และกลับมามีชีวิตที่มีความสุขได้อีกครั้ง

ศูนย์บำบัดยาเสพติด เอกชน เดอะดอว์น เชียงใหม่ สามารถช่วยผู้ที่เข้ารับการรักษาเอาชนะการเสพติดได้พร้อมกับการทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ที่ดี โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการเสพติดของเราทำงานร่วมกับผู้เข้ารับการรักษาเพื่อสร้างแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุด

การรักษาที่ครอบครัวมีส่วนร่วม

เดอะดอว์นเข้าใจดีว่า การเสพติดไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อผู้เสพติด หากยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวอีกด้วย ดังนั้นการรับมือกับผลกระทบเหล่านี้และการเยียวยาครอบครัวไปด้วยพร้อมกัน ด้วยการทำครอบครัวบำบัดจะเพิ่มโอกาสในการหยุดการเสพติดอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยเมื่อใกล้สิ้นสุดการรักษา เราจะให้ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งการให้ความรู้และการให้คำปรึกษา 

ติดต่อหาเราวันนี้ หากคุณสนใจเข้ารับการรักษาแบบอยู่ประจำ เจ้าหน้าที่จะคอยให้ข้อมูลเพิ่มเติมรวมถึงสิ่งที่เราสามารถช่วยคุณและครอบครัว ให้เดินไปบนเส้นทางของการฟื้นฟูตัวเองได้อย่างราบรื่นและยั่งยืน

ประกาศ

ณ ปัจจุบัน ศูนย์ของเรา ได้ยุติการให้บริการบำบัดภาคภาษาไทย

เดอะดอว์นขอขอบคุณทุกความไว้วางใจมา ณ ที่นี้

ให้เราช่วยคุณเริ่มต้นการเดินทางสู่สุขภาวะที่ดีตั้งแต่วันนี้

โทร: 083 204 8384