ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง เสพติดยา และ พึ่งพาสารเสพติด

เสพติดยาหรือพึ่งพาสารเสพติด — มาทำความเข้าใจความแตกต่างกัน

การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเสพติดเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ทำให้เราเข้าใจว่าผู้เสพติดยาเสพติดและแอลกอฮอล์ มีภาวะเสพติดได้ทั้งทางร่ายกายและทางใจ

สิ่งที่แยกการพึ่งพาสารเสพติดออกจากการเสพติดยา คือความแตกต่างระหว่างปฏิกิริยาทางร่างกายและปฏิกิริยาทางสมอง และการรับรู้ถึงความแตกต่างนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างคนเรากับสารเสพติด และประเภทของการรักษาที่จะช่วยหยุดการเสพติดนั้นได้

การเสพติดยาคืออะไร

การทำความเข้าใจเรื่องการเสพติดมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง และก็มีการศึกษาและการวิจัยใหม่ๆ จำนวนมาก ที่ย้อนแย้งกับความเชื่อและความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการเสพติดที่มีกันมาเป็นเวลานาน โดยการค้นพบใหม่หลักๆ ในสมัยใหม่นี้ คือการได้ยอมรับการเสพติดในฐานะ “โรคเรื้อรัง” ชนิดหนึ่ง ดังนั้น ตอนนี้คำที่ถูกต้องสำหรับการเรียกการเสพติดจึงได้แก่ “ความผิดปกติในการใช้สารเสพติด (Substance Use Disorder หรือ SUD)” 

และความเข้าใจนี้ได้ช่วยให้ผู้คนจำนวนมากหลุดออกจากความคิดอันคร่ำครึเกี่ยวกับความผิดปกติในการใช้สารเสพติดที่ว่า การเสพติดเป็นเรื่องของการขาดความเข้มแข็งทางจิตใจ หรือเป็นเรื่องทางศีลธรรม และหันมาพิจารณถึงความเข้าใจแบบองค์รวมเกี่ยวกับผลกระทบอันซับซ้อนที่สารเสพติดทำให้เกิดกับสมองและร่างกายของคนๆหนึ่ง

การเสพติดทำให้เกิดอะไรกับสมอง

เมื่อเรามักทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความพึงพอใจ เช่น การกินอาหารอร่อยๆ การได้รับรางวัล การดื่มเบียร์เพื่อการสังสรรค์ในตอนเย็น การทำกิจกรรมเหล่านี้จะไปกระตุ้นเส้นทางในสมองที่เกี่ยวกับการรับรางวัล ซึ่งทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทที่เรียกว่า “โดพามีน (dopamine)” ซึ่งทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายและมีความสุข และก็เชื่อมโยงสิ่งนี้กับแรงจูงใจและความทรงจำของเรา นี่เป็นปฏิกิริยาทางธรรมชาติต่อสิ่งที่เราทำให้เรามีความสุข และประทับตราลงในสมองของเราในฐานะของความรู้สึกชื่นชอบ และคาดหวังว่าเราอาจจะได้ทำสิ่งเหล่านั้นอีกครั้ง

ปฏิกิริยาของสมองต่อสารเสพติดอย่างเช่นแอลกอฮอล์ เฮโรอีน หรือนิโคติน ก็ทำให้เกิดการหลั่งโดพามีนจำนวนมากที่รุนแรง และรวดเร็ว ซึ่งสมองจะเรียนรู้อย่างรวดเร็วและจดจำความรู้สึกที่ไม่ปกตินี้เอาไว้ กระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจอันแรงกล้า หรือโหยหาที่จะได้สัมผัสกับความรู้สึกเช่นนี้อีกครั้ง

เมื่อปริมาณและความถี่ของการเสพติดเพิ่มมากขึ้น ความทนต่อสารเสพติดก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้คนๆ นั้นต้องการสารเสพติดมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทำให้เกิดปฏิกิริยาแบบเดียวกัน ซึ่งไม่เพียงนี่จะผลักดันร่างกายคุณจนเกินขีดจำกัด แต่ยังทำให้ระดับโดพามีนตามธรรมชาติของสมองลดลง ทำให้ความสามารถในการที่จะมีความสุขจากสิ่งอื่นเกือบทั้งหมดหายไป และกระทั่งจำกัดความรู้สึกที่คุณได้จากการใช้สารเสพติดด้วย อย่างไรก็ตาม เพราะหนทางที่สมองได้ถูกปรับเส้นทางประสาทโดยสารเสพติดไปเสียแล้ว จึงเป็นเรื่องยากอย่างมากที่จะหยุดใช้สารเหล่านั้นได้ง่ายๆ

สัญญาณของการเสพติด

เป็นเรื่องปกติที่คนซึ่งมีความผิดปกติในการใช้สารเสพติดจะปฏิเสธว่าตนเองเสพติด แม้คนอื่นจะเริ่มแสดงความกังวลและห่วงใย หรือความผิดปกติในการใช้สารเสพติดนั้นเริ่มส่งผลกระทบในแง่ลบต่อชีวิตของตนเอง อย่างไรก็ตาม การแยกแยะสัญญาณที่พบได้บ่อยบางอย่าง ก็สามารถช่วยยืนยันได้ว่าได้มีการเสพติดเกิดขึ้นหรือยัง 

ซึ่งสัญญาณเหล่านี้ได้แก่

  • การที่ยังคงใช้ยาที่แพทย์สั่งให้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะไม่จำเป็นต้องใช้แล้วก็ตาม
  • การหมดความสนใจในสิ่งที่ก่อนหน้านี้เคยชื่นชอบ
  • การหมกหมุ่นกับการดื่มแอลกออฮอล์หรือเสพยาเสพติด
  • การไม่สามารถจำกัดปริมาณการใช้สารนั้นๆ ที่ตนเองหรือหมอกำหนดเอาไว้
  • การที่ยังคงการใช้สารนั้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ตัวเองจะเริ่มมีความกังวลหรือมีความกังวลจากคนอื่น
  • การไม่สามารถทำภาระการงานหรือภาระส่วนตัวที่เคยทำได้ตามปกติ
  • การมีส่วนร่วมกับกิจกรรมอันตราย อย่างเช่นการขับรถเมื่อมีอาการมึนเมา
  • การพยายามที่จะปิดบังการใช้สารเสพติด
  • อารมณ์หรือรูปลักษณ์ภายนอกเปลี่ยนแปลงไป
  • รูปแบบการนอนหลับเปลี่ยนแปลงไป

หากคุณสงสัยว่าตัวเองหรือคนที่คุณรักอาจมีความผิดปกติในการใช้สารเสพติด สิ่งสำคัญอย่างยิ่งก็คือการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับตัวเลือกในการรักษา เพราะการเสพติดเป็น “โรคร้าย” ที่ต้องการการดูแลจากมืออาชีพ และทำตามคำแนะนำจากมืออาชีพในการรับมือ เช่นเดียวกับโรคเบาหวานหรือโรคหอบหืด อีกทั้งการได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมยังสามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างมากในเรื่องความรวดเร็วหรือความง่ายในการหยุดยาเสพติดและฟื้นฟูตัวเอง

การพึ่งพาสารเสพติดคืออะไร

การพึ่งพาเกิดขึ้นได้เมื่อร่างกายของคนๆ นั้นปรับตัวเข้ากับสารเสพติด และมีอาการทางร่างกายของการถอนยาหลังจากที่คุณหยุดใช้สารนั้น อาการที่เกิดขึ้นมีหลากหลายขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการพึ่งพา ยกตัวอย่างเช่น ตั้งแต่อาการหงุดหงิด อาการปวดหัวจากการขาดคาเฟอีนเมื่อคุณหยุดการดื่มกาแฟในตอนเช้า ไปจนถึงอาการทางจิตที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันกับผู้ที่ดื่มสุรา (Delirium Tremens) เช่น อาการเพ้อคลั่ง สมองสับสน ซึ่งเป็นรูปแบบที่รุนแรงเมื่อหยุดดื่มแอลกอฮอล์ ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การพึ่งพาทางร่างกายสามารถเกิดขึ้นได้แม้จะไม่มีการเสพติดก็ตาม ตัวอย่างเช่น ผู้ที่กินยาที่แพทย์สั่งให้อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างเช่นยาในกลุ่มโอปิออยด์ อาจเกิดการพึ่งพาทางร่างกายโดยไม่ได้ตั้งใจ เพื่อที่จะหยุดการรับประทานยาบางอย่าง แพทย์จึงจะค่อยๆ ลดปริมาณยาลง แทนที่จะให้หยุดโดยสิ้นเชิง กระบวนการนี้ช่วยให้ร่างกายมีเวลาในการถอนตัวจากยา และลดอาการไม่สบายเนื่องมาจากการถอนพิษยา

ทำความเข้าใจเรื่องการพึ่งพาและการถอนพิษยา

สารเสพติดบางประเภทสามารถทำให้ระดับการพึ่งพานั้นรุนแรงมากได้ โดยผลที่ตามมาอาจเป็นอันตราย หรือกระทั่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เมื่อคนๆ นั้นหยุดการใช้ยานั้น การหยุดใช้ยาดังกล่าวจึงต้องมีการถอนพิษยาด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์จะค่อยๆ ให้คนๆ นั้นถอนตัวจากการใช้สารเสพติดในแบบที่สบายที่สุด หรือสั่งยาอื่นเพื่อช่วยในการจัดการเมื่อเกิดอาการอยากยา โดยสารเสพติดที่มีแนวโน้มจะต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ในการถอนพิษยาได้แก่

  • แอลกอฮอล์
  • ยาเบนโซไดอะซีปีน (อย่างเช่น Valium, Xanax หรือ Klonopin)
  • เฮโรอีน
  • ยาโอปิออยด์ที่แพทย์สั่งให้

อาจมีบางคนที่เลือกจะถอนพิษยาด้วยตัวเองเนื่องมาจากเหตุผลหลายอย่าง แต่วิธีการนี้ก็มีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก เนื่องมาจากอาการทางร่างกายที่เกิดจากการพึ่งพา สิ่งที่ควรทำก็คือการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการถอนพิษยา เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถหยุดการใช้ยาและฟื้นฟูตัวเองได้อย่างประสบความสำเร็จ รวมถึงเรื่องของความปลอดภัยทางร่างกายของคุณในระหว่างกระบวนการถอนพิษยาด้วย

การเยียวยาความผิดปกติในการใช้สารเสพติดที่เดอะดอว์น

การเยียวยาความผิดปกติในการใช้สารเสพติดที่เดอะดอว์น

ศูนย์บำบัดยาเสพติดและฟื้นฟูสุขภาพจิต เดอะดอว์น เชียงใหม่ เป็นสถานบำบัดแบบอยู่ประจำที่โดดเด่นในการฟื้นฟูความผิดปกติในการใช้สารเสพติด ด้วยการสนับสนุนและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการเยียวยาและการเติบโตของผู้ที่กำลังต้องการฟื้นฟูตัวเองจากการติดสารเสพติด โดยเดอะดอว์นมีทั้งการบำบัดรักษาสำหรับผู้ที่มีปัญหาติดสารเสพติด การเสพติดพฤติกรรม รวมไปถึงโรคร่วมต่างๆ

เป้าหมายหลักของเราก็คือการทำให้ผู้รับการรักษาประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูตัวเองในระยะยาว ด้วยการทำความเข้าใจในสาเหตุที่เป็นรากเหง้าของปัญหาอย่างแท้จริง และให้ความรู้แก่ผู้รับการรักษาที่เหมาะกับแต่ละคนในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ของชีวิต โดยเราทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้รับการรักษาแต่ละคน เพื่อสร้างแผนการบำบัดรักษาตามความต้องการและเป้าหมายเฉพาะของแต่ละคน

การดูแลทางการแพทย์ตลอด 24 ชั่วโมงและการถอนพิษยาในสถานที่อันเงียบสงบและผ่อนคลาย

เดอะดอว์นยังมีโปรแกรมการถอนพิษยาภายใต้การดูแลทางการแพทย์ โดยทีมพยาบาลมืออาชีพที่ทำงานเต็มเวลาในสถานบำบัดของเรา จะจับตาดูผู้รับการรักษาอย่างใกล้ชิดตลอดกระบวนการนี้ ภายใต้การดูแลและการแนะนำจากจิตแพทย์ ซึ่งสามารถสั่งยาให้ได้เมื่อจำเป็น เพื่อบรรเทาอาการที่เกิดจากการถอนยา

ทีมงานของเดอะดอว์นมีประสบการณ์อันยาวนาน ในการบำบัดรักษาผู้ที่มีความผิดปกติในการใช้สารเสพติดอย่างประสบความสำเร็จ หากคุณหรือคนที่คุณรักกำลังประสบปัญหาการเสพติดและต้องการเข้ารับการบำบัดแบบอยู่ประจำ ติดต่อแผนกแรกรับของเราตอนนี้ เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมในสิ่งที่เราสามารถช่วยคุณในการเอาชนะการเสพติดและการพึ่งพาสารเสพติด และสามารถกลับมาควบคุมชีวิตตัวเองได้อีกครั้ง

ประกาศ

ณ ปัจจุบัน ศูนย์ของเรา ได้ยุติการให้บริการบำบัดภาคภาษาไทย

เดอะดอว์นขอขอบคุณทุกความไว้วางใจมา ณ ที่นี้

ให้เราช่วยคุณเริ่มต้นการเดินทางสู่สุขภาวะที่ดีตั้งแต่วันนี้

โทร: 083 204 8384