ข้ออ้างเพื่อเลี่ยงการเข้ารับการบำบัด

5 ข้ออ้างที่ผู้เสพติดใช้บ่อยเพื่อเลี่ยงการเข้าบำบัด

การตัดสินใจเข้ารับการบำบัดไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้เสพเลยมักจะหาข้ออ้างเพื่อหลีกเลี่ยงการบำบัด แต่หากคุณหาข้ออ้างไปเรื่อยๆ คุณกำลังเพิ่มความเสี่ยงในการเผชิญกับผลอันเลวร้ายที่จะตามมาจากการเสพติดของคุณ

ถ้าคุณกำลังเตะถ่วงสุดฤทธิ์เพื่อจะไม่เข้าบำบัด คุณก็ไม่ใช่คนเดียวหรอกที่เป็นแบบนั้น เหตุผลที่ถูกยกเอามาเป็นข้ออ้างเพื่อเลี่ยงการเข้าสถานบำบัดนั้นมีมากมายไม่รู้จักจบจักสิ้น ตั้งแต่ไม่มีเวลาไปจนถึงไม่มีเงิน ทั้งหมดก็เพื่อปฏิเสธความคิดที่ว่าคุณอาจกำลังมีปัญหาเสพติด สิ่งที่คุณคิดว่าเป็นเหตุผลอันหนักแน่น ที่แท้แล้วก็เป็นเพียงแค่การป้องกันตัวเองในเรื่องการเสพติดต่างหาก การหาเหตุผลและการไม่ยอมรับความจริงเป็นการชะลอการรักษาการเสพติดให้เนิ่นนานออกไป ซึ่งทำให้โอกาสที่จะเกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ และชีวิตสังคมของคุณเพิ่มมากยิ่งขึ้น

มาเริ่มต้นช่วยเหลือตัวคุณเอง ด้วยการพิจารณาเหตุผลเหล่านี้ตามที่เป็นจริง และดูแลตัวเองอย่างจริงจังเสียที เราได้แยกแยะข้ออ้างเพื่อเลี่ยงการเข้าบำบัดที่พบกันบ่อยที่สุด และแยกย่อยแต่ละข้ออ้างเพื่อให้คุณเห็นว่า ปราการที่ขวางกั้นระหว่างคุณกับการรักษาก็คือปราการที่อยู่ในใจของคุณนั่นเอง

ข้ออ้างที่พบบ่อยในการไม่ยอมเข้ารับการบำบัด และเหตุผลที่คุณไม่ควรใช้

ข้ออ้างที่พบทั้งหมดล้วนมาจากความกังวลหรือปัญหาที่ไม่อาจแก้ไขได้โดยง่าย แต่สิ่งที่เป็นปัญหามากกว่าก็คือ เมื่อเรามองข้ออ้างเหล่านี้เป็นจุดสิ้นสุด แทนที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา เพราะจริงๆ แล้วข้ออ้างเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ที่ดีว่า เราต้องเจาะลึกลงไปเพื่อทำความเข้าใจเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังของข้ออ้างเหล่านั้น และเริ่มต้นคิดหาวิธีที่จะก้าวข้ามข้ออ้างเหล่านั้นไปให้ได้

ข้ออ้าง 1 : 

“ถ้าคนรู้ว่าชั้นเป็นไอ้ขี้ยา ชั้นจะสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งการงานและเพื่อนๆ”

คุณอาจกังวลเกี่ยวกับการถูกตราหน้าว่าเป็น “ขี้ยา” หรือ “ขี้เมา” โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณอยู่ในสังคมที่ถือว่าการเสพติดเป็นข้อห้ามใหญ่หรือสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ และยังเป็นเรื่องปกติมากที่จะกังวลว่า เรื่องนี้อาจส่งผลต่ออาชีพการงานของตัวเองได้ ไม่เพียงแต่เรื่องที่เพื่อนร่วมงานจะรู้เรื่องการเสพติดของคุณ แต่คุณยังต้องการเวลาที่จะหยุดงานเพื่อมาจัดการเรื่องนี้ด้วย

วิธีก้าวข้ามสู่การแก้ปัญหา: ยอมรับความจริงว่าคุณไม่สามารถปิดบังการเสพติดของตัวเองไปได้ตลอดชีวิต

นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องถามตัวเองว่า คนอื่นไม่ระแคะระคายถึงการเสพติดของคุณเลยจริงๆหรือ? คุณเคยเข้าไปที่ทำงานในสภาพมึนเมาหรือแฮงก์หรือเปล่า คุณเคยสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ของคุณกับผู้คนรอบข้างหรือเปล่า หรือวิธีการใช้ชีวิตของคุณ คนที่ใกล้ชิดคุณไม่รู้จริงๆ หรือว่าคุณกำลังมีปัญหาการเสพติด พวกเขาอาจสังเกตเห็นว่ามีเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และพวกเขาก็อาจจะกำลังเป็นห่วงคุณอยู่ก็เป็นได้ เพราะการเสพติดอาจทำให้คุณตัดสินใจในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ใดๆ เลยต่อการทำงานและสัมพันธภาพของคุณ และนอกเหนือจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในเรื่องสุขภาพของคุณแล้ว ก็ยังอาจทำให้เกิดผลทางกฎหมายหรือทางการเงินตามมาด้วยก็เป็นได้

การบำบัดรักษาเป็นหนทางที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเสพติดได้ และสถานบำบัดยังเป็นที่ซึ่งคุณจะได้รับการสอนใเรื่องการจัดการกับการเสพติดของตัวเองรวมถึงการสร้างกลไกในการรับมือที่ดีต่อสุขภาพเพื่อจัดการกับความเครียดในแบบสร้างสรรค์ – ไม่ใช่ในแบบที่ทำลายตัวเอง มีเพียงวิธีนี้เท่านั้นที่จะส่งผลดีต่อทั้งความสัมพันธ์ส่วนตัวและหน้าที่การงาน ช่วยให้คุณได้เติบโตและก้าวหน้าในแบบที่คุณอาจไม่รู้สึกว่ามาก่อนเลยว่าจะเป็นไปได้

ข้ออ้าง 2: 

“ถ้าชั้นเข้าสถานบำบัด แฟนจะต้องทิ้งชั้น เค้าไม่สามารถรับมือเรื่องนี้ได้แน่นอน”

ความกลัวว่าความสัมพันธ์จะต้องพังทลายลง อาจมาจากหลายสาเหตุ คุณอาจต่อสู้กับความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอหรือเกลียดตัวเอง อีกทั้งยังเป็นไปได้ว่า คุณมีความสัมพันธ์กับคนที่ไม่ได้สนับสนุนคุณอย่างเต็มที่ในเรื่องความอยู่ดีมีสุขของคุณ และดังนั้น จึงไม่ใช่คู่รักที่ดีที่สุดสำหรับคุณในขณะที่คุณก้าวเข้าสู่การฟื้นฟูตัวเองจากการเสพติด

หรือบางครั้งผู้ที่มีปัญหาการเสพติดก็อาจอยู่ในความสัมพันธ์แบบพึ่งพา ซึ่งคือการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถือความต้องการของคนอื่นเป็นใหญ่กว่าความต้องการของตัวเอง และสามารถนำไปสู่การเป็นผู้ให้ท้ายให้แก่คู่รักที่เป็นผู้เสพติด แทนที่จะช่วยกันให้เติบโตและก้าวหน้าต่อไปได้

วิธีก้าวข้ามสู่การแก้ปัญหา: ใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพและสร้างความสัมพันธ์แบบที่ดีต่อตัวเอง

สิ่งหนึ่งซึ่งแน่นอนว่าจะไม่ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นได้ ก็คือการเสพติด ซึ่งหากความสัมพันธ์ของคุณอยู่บนพื้นฐานของความรักและความปรารถนาดีต่อกันอย่างแท้จริงแล้ว คู่ของคุณก็จะต้องเข้าใจดีว่าทำไมการรักษาจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก และในท้ายที่สุดแล้ว การเลือกการฟื้นฟูตัวเองก็เป็นเรื่องของการเลือกที่จะเป็น “ตัวเอง” ในแบบที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากนี้แล้ว ประโยชน์ทั้งหลายจากการรักษา ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงปัญหาที่อยู่เบื้องหลังการเสพติดของคุณ ความสามารถในการรับมือกับความเครียดและความยากลำบากได้อย่างสร้างสรรค์และเข้มแข็งขึ้น รวมถึงสุขภาพกายและใจที่ดีขึ้น ก็จะย้อนกลับมาส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ของคุณด้วยเช่นกัน

ข้ออ้าง 3: 

“ครอบครัวชั้นคงรับไม่ได้ ถ้าชั้นบอกว่าจะรักษาการเสพติด”

ความกังวลเกี่ยวกับปฏิกิริยาของครอบครัวและคนรัก รวมถึงความสามารถของตัวเองในการรับมือเรื่องนี้ ก็อาจมีบทบาทสำคัญในการหลีกเลี่ยงการเข้าสถานบำบัดเช่นกัน คุณอาจเชื่อว่าตัวเองเก็บซ่อนการเสพติดของตัวเองจากคนอื่นได้–ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องจริงก็ตาม และรู้สึกว่าการเปิดเผยว่าคุณต้องการการรักษาเป็นเรื่องที่ทั้งน่าตกใจและเศร้าใจ นอกจากนี้ หากคุณเป็นคนที่หารายได้หลักของครอบครัว คุณก็อาจกังวลด้วยว่าคนในครอบครัวจะอยู่กันได้อย่างไร ถ้าคุณเข้าสถานบำบัด

วิธีก้าวข้ามสู่การแก้ปัญหา: ค้นหาการรักษาแบบที่เหมาะกับคุณ

การเสพติดเป็นโรคเรื้อรังที่พัฒนาขึ้นไปได้เรื่อยๆ ซึ่งหมายความว่ายิ่งปล่อยไว้นานเท่าใดก็จะยิ่งเลวร้ายลงไปเท่านั้น ในขณะที่คุณอาจอยู่ในจุดที่คุณยังทำทุกอย่างได้ถึงแม้จะเสพติดแล้วก็ตาม แต่ความเป็นจริงก็คือ คุณไม่สามารถแอบซ่อนหรือหวังว่าปัญหาสุขภาพร่างกายและจิตใจที่เกิดจากการเสพติดจะหายไปได้เอง และยิ่งปล่อยเวลาผ่านไป การเสพติดของคุณจะยิ่งเห็นชัดเจนขึ้น และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ การเสพติดของคุณยังอาจมีผลเสียตามมาที่ไม่อาจแก้ไขได้ และอาจทำลายครอบครัวของคุณจนพังยับเยิน

ที่จริงแล้ว การบำบัดรักษานั้นมีอยู่หลากหลายแบบที่เหมาะกับความต้องการเฉพาะของคุณ การรักษาแบบคนไข้นอกช่วยให้คุณยังสามารถทำงานและดูแลครอบครัวได้ตามปกติ เพียงแค่หาเวลาไปเข้ารับการรักษาตามกำหนด ส่วนการรักษาแบบคนไข้ในเป็นวิธีการที่เข้มข้นกว่า อีกทั้งการได้ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากสิ่งเร้าทั้งหลาย ก็ช่วยให้คุณได้จดจ่ออยู่กับตัวเองและการฟื้นฟูตัวเองให้ดีขึ้น ทำให้ใช้เวลาในการรักษาสั้นกว่าและฟื้นฟูตัวเองได้เร็วกว่า

ข้ออ้าง 4: 

“ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรเลย ชั้นไม่ได้ติด ชั้นจะหยุดเมื่อไหร่ก็ได้ที่ตัวเองต้องการ”

ข้ออ้างนี้เป็นสัญญาณอันตรายตัวโตเลยทีเดียว เพราะเป็นคำพูดของผู้เสพติดที่แท้จริง เนื่องจากการเสพติดมักทำให้คนเราไม่ยอมรับความจริง ป้องกันตัวเอง และไม่ซื่อสัตย์ การเสพติดทำให้คนเราไม่ยอมพูดเรื่องนี้ ไม่ใส่ใจในความห่วงกังวลของคนอื่น และหลีกเลี่ยงการคิดใคร่ครวญอย่างจริงจังถึงสิ่งที่ซ่อนลึกอยู่ภายใน การเสพติดทำให้เกิดการแยกตัวออกห่างและมีความลับ อีกทั้งทำให้ยิ่งป้องกันตัวเองเพิ่มมากขึ้นเพื่อที่จะได้เสพติดต่อไปเรื่อยๆ

วิธีก้าวข้ามสู่การแก้ปัญหา: ค้นหาตัวเอง

หากการไม่ยอมรับความจริงเป็นปฏิกิริยาแรกของคุณ ต่อความเป็นไปได้ที่ว่าคุณอาจกำลังมีปัญหาการใช้สารเสพติด ก็อาจเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า คุณจำต้องสำรวจความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ได้แล้ว แทนจะโมเมไปว่าการไม่ยอมรับความจริงนี้มาจากตัวคุณเอง ยอมรับซะเถิดว่าการเสพติดอาจทำให้คุณพูดแบบนี้ และเริ่มต้นสำรวจตัวเองได้แล้ว

ลองเริ่มต้นด้วยการถามคำถามบางอย่างกับตัวเอง และตอบทุกอย่างตามความสัตย์จริง กระบวนการนี้จะสามารถช่วยให้คุณประเมินได้ว่าตอนนี้การใช้สารเสพติดของคุณ ก้าวข้ามไปสู่การเสพติดอย่างแท้จริงแล้วหรือยัง

  • เพื่อนและครอบครัวเคยแสดงความกังวลในเรื่องการใช้สารเสพติดของคุณหรือเปล่า
  • คุณเคยแอบซ่อนหรือปกปิดการใช้สารเสพติดของตัวเองหรือเปล่า
  • คุณเคยลองเลิกหรือลดสารใช้สารเสพติดแต่ไม่ประสบความสำเร็จหรือเปล่า
  • คุณเคยสังเกตเห็นอาการถอนยาเวลาที่ไม่ได้ใช้สิ่งเสพติดอย่างเช่น ปวดศีรษะ หนาวสั่น นอนไม่หลับ หัวใจเต้นแรงเร็ว ท้องไส้ปั่นป่วนหรือปวดท้อง และวิตกกังวลหรือเปล่า
  • คุณขี้หงุดหงิดและอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ อยู่เป็นประจำหรือเปล่า
  • คุณอยากดื่มเหล้าหรือใช้สารเสพติดเป็นประจำหรือเปล่า
  • คุณอยากดื่มเหล้าหรือใช้สารเสพติดมากกว่าการทำกิจกรรมอื่นๆ หรือเปล่า
  • คุณเคยรู้สึกผิดหรือกังวลกับการใช้สารเสพติดของตัวเองหรือเปล่า

หากคุณตอบว่า “ใช่” หรือ “เคย” กับทุกคำถามนี้ ก็จำเป็นที่จะต้องติดต่อขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเสพติดได้แล้ว พวกเขาจะสามารถช่วยวิเคราะห์สถานการณ์ของคุณและแนะนำขั้นตอนที่ควรทำต่อไปให้ได้

ข้ออ้าง 5: 

“สถานบำบัดแพงจะตาย ฉันเลิกยาด้วยตัวเองก็ได้”

ค่าใช้จ่ายในการรักษาอาจสูงเป็นอย่างมากก็ได้ ถ้าคุณมองหาสถานบำบัดแบบอยู่ประจำของเอกชนที่มีความเป็นส่วนตัวสูง ซึ่งจะช่วยจัดการกับปัญหาสำคัญด้านต่างๆ ของการเสพติดและการฟื้นฟูตัวเอง อย่างเช่นการถอนพิษยาในสถานบำบัดแบบมีผู้ดูแลใกล้ชิด จนทำให้อาจเป็นลมเอาได้ง่ายๆ เมื่อเห็นราคาค่ารักษา และรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่คุณไม่สามารถจ่ายได้แน่นอน

วิธีก้าวข้ามสู่การแก้ปัญหา: ทำความเข้าใจในเรื่องค่าใช้จ่ายที่แท้จริง

มีเรื่องที่คุณควรพิจารณาอยู่สองสามข้อ หากค่าใช่จ่ายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คุณหลีกเลี่ยงการเข้าสถานบำบัด ข้อแรกก็คือจำนวนเงินที่เสียไปกับการเสพติด ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เงินที่คุณจ่ายไปกับการซื้อยาหรือเหล้า แต่ยังมีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาตัวหรือการจัดการปัญหาทางกฏหมายที่เกิดขึ้นมาจากการเสพติดของคุณ เมื่อคุณคำนวณค่าใช้จ่ายเหล่านี้แล้ว ก็เป็นไปได้ว่าคุณได้เสียเงินเท่ากับที่คุณต้องจ่ายในการเข้าสถานบำบัด—หรือมากกว่านั้น—ไปแล้ว ลองนั่งลงแล้วคำนวณค่าใช้จ่ายเหล่านี้ดู คุณก็อาจมองค่าใช้จ่ายในการเข้าสถานบำบัดแตกต่างออกไปก็ได้

นอกจากนี้การหยุดการเสพติดด้วยตัวเองเพื่อประหยัดเงินอาจเป็นอันตรายกว่าที่คิด โดยเฉพาะหากการเสพติดของคุณต้องมีการถอนพิษยาในร่างกาย การถอนพิษยาเป็นสิ่งที่ควรทำภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญหรือบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งสามารถเข้ารับการรักษาแบบฉุกเฉินได้ทันทีที่จำเป็น

หลุดพ้นจากข้ออ้างและกลับมาเป็นตัวของตัวเองได้อีกครั้งกับ..เดอะดอว์น

เมื่อคุณยอมรับแล้วว่าคุณกำลังเสพติด เดอะดอว์นสามารถช่วยให้คุณกลับมาควบคุมชีวิตและเป็นตัวของตัวเองได้อีกครั้ง โดยสถานบำบัดยาเสพติดและฟื้นฟูสุขภาพจิตเดอะดอว์น เชียงใหม่ เป็นสถานบำบัดแบบอยู่ประจำซึ่งเน้นที่การช่วยให้ผู้รับการรักษาเข้าใจถึงที่มาและรากเหง้าของการเสพติดของตัวเอง จัดการกับสิ่งเร้า และสร้างวิธีการรับมือที่ดีต่อสุขภาพ คุณจึงจะกลับจากเดอะดอว์นไปด้วยความรู้สึกที่เข้มแข็ง มั่นใจ และพลังวังชาที่กลับมาเต็มเปี่ยมอีกครั้ง

หากคุณพร้อมที่จะเริ่มต้นบทใหม่ของชีวิต โทรหาพวกเรา เพื่อรับทราบในสิ่งที่เราสามารถช่วยสนับสนุนคุณได้

ประกาศ

ณ ปัจจุบัน ศูนย์ของเรา ได้ยุติการให้บริการบำบัดภาคภาษาไทย

เดอะดอว์นขอขอบคุณทุกความไว้วางใจมา ณ ที่นี้

ให้เราช่วยคุณเริ่มต้นการเดินทางสู่สุขภาวะที่ดีตั้งแต่วันนี้

โทร: 083 204 8384