ครอบครัวบำบัด
การเสพติดได้ชื่อว่าเป็น “โรคร้ายของครอบครัว” เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบต่อผู้ติดยาเสพติดทั้งทางร่างกายและจิตใจแล้ว พฤติกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งยาเสพติดยังทำลายความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว รวมทั้งสถานะทางการเงิน ทำให้สุขภาพจิตของคนทั้งบ้านได้รับผลกระทบ
เรามักโทษผู้ติดยาเสพติดว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงการใช้ยาเสพติดมักมีที่มาจากปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งอาจเกิดจากความสัมพันธ์ภายในครอบครัวหรือสาเหตุอื่น และเมื่อเสพจนติดแล้ว ผู้ติดยาเสพติดก็ต้องพยายามหาวิธีต่างๆ มาโน้มน้าวชักจูงคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นการกดดัน ก้าวร้าว โกหก เพียงเพื่อให้ตนเองได้ยามาเสพ
ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นผู้ติดยาเสพติด เรียกว่า ความสัมพันธ์แบบพึ่งพา (Codependent Relationship) ในครอบครัวที่มีความสัมพันธ์แบบนี้จะพบว่าคนในบ้านพยายามเอาใจผู้ติดยาเสพติด เพื่อให้ผู้ติดยาเสพติดไม่แสดงพฤติกรรมที่จะทำให้คนในครอบครัวรู้สึกเดือดร้อนหรือไม่สบายใจ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ติดยาเสพติดจะให้ความสนใจแต่สิ่งที่ตนเองได้ประโยชน์ เช่น ได้เงินมาซื้อยาเสพ
คนในครอบครัวมักมีความเครียดความกังวลเกี่ยวกับผู้ติดยาเสพติดอยู่ตลอดเวลา ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็แย่ลง เพราะทุกคนพยายามช่วยให้ผู้ติดยาเสพติดเลิกยา จนไม่เหลือเวลาและเรี่ยวแรงที่จะสร้างหรือรักษาสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ครอบครัวของผู้ติดยาเสพติดจะมีภาวะของโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า รวมทั้งปัญหาสุขภาพกายที่เกิดจากความเครียดรุมเร้าอย่างต่อเนื่อง
คนในครอบครัวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสพติดอย่างไร
เมื่อคนในครอบครัวติดยาเสพติดก็เป็นธรรมดาที่คนอื่นๆ ในบ้านจะหาทางช่วยเหลือ แต่มีบ่อยครั้งที่ครอบครัวมีเจตนาดี แต่ด้วยการช่วยเหลือที่ผิดวิธี จึงกลายเป็นส่งเสริมให้บุคคลที่รักเสพติดต่อไป
การที่คนในครอบครัวปกป้องผู้ติดยาเสพติดจากผลของการกระทำที่เขาควรจะได้รับ นอกจากจะทำให้ผู้ติดยาเสพติดเลิกเสพยาไม่ได้แล้ว คนที่คอยปกป้องยังสูญเสียความนับถือในตัวเอง เพราะคิดว่าตนทำให้บุคคลที่รักติดสิ่งเสพติด และตัวผู้เสพติดเองก็หมดความนับถือในตัวผู้ช่วยเหลือ เพราะมองว่าผู้ที่คอยช่วยเป็นสาเหตุที่ทำให้ตนเองต้องทนทุกข์ทรมานกับการเสพติดต่อไปนั่นเอง
หากลองสังเกตจะพบว่าสมาชิกในครอบครัวของผู้ติดยาเสพติดบางคนมีบทบาทดังต่อไปนี้:
- ผู้ให้ท้าย คอยช่วยโกหกหรือแก้ตัวแทนผู้เสพติด ให้เงินใช้ทั้งที่รู้ว่าเขาจะนำเงินไปทำอะไร หรือไม่ยอมรับว่าเขามีพฤติกรรมเสพยา
- บางคนรับบทฮีโร่ คอยจัดการปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมของผู้เสพติด
- บางคนเป็นแพะรับบาป เพราะกล้าพูดในเรื่องที่ครอบครัวพยายามปกปิดหรือไม่ยอมรับ จึงมักถูกคนในครอบครัวมองว่าเป็นเด็กมีปัญหาและถูกลงโทษมากที่สุด
- บางคนเป็นมาสคอตหรือตัวฮา พยายามใช้อารมณ์ขันจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น
- บางคนเป็นเด็กที่ถูกลืม มักแยกตัวจากคนในบ้านและมีปัญหาในการเข้าสังคม เพราะคนในครอบครัวมัวทุ่มเทเวลาและพลังงานให้กับผู้เสพติดนั่นเอง
ครอบครัวบำบัดคืออะไร
เนื่องจากการเสพติดเป็นโรคร้ายของทั้งครอบครัว จึงต้องนำ “ครอบครัวบำบัด” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา
ครอบครัวบำบัด คือ การบำบัดโดยความร่วมมือของคนในครอบครัว เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ผู้เสพติดหวนกลับไปใช้สารเสพติด และลดความเสี่ยงของการติดสิ่งเสพติดเพิ่มเติมของคนในครอบครัว ซึ่งในระหว่างการทำครอบครัวบำบัด เรามักจะค้นพบปัญหาอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น
- ปัญหาทักษะของการเลี้ยงลูก
- ความขัดแย้งในครอบครัว
- โรคซึมเศร้า
- การใช้ความรุนแรง เป็นต้น
ครอบครัวบำบัดและการบำบัดสารเสพติดเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของการรักษา การทำครอบครัวบำบัดเปิดโอกาสให้คนในครอบครัวได้พูดคุยหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งการพูดคุยหารือก็ถือเป็นการเยียวยาในตัวเอง และคนในครอบครัวยังได้ข้อมูลความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเสพติดซึ่งจัดว่าเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง และวิธีบำบัดรักษา สามารถสนับสนุนบุคคลที่รักได้อย่างถูกทาง ทั้งในช่วงของการบำบัด และเมื่อเขาหรือเธอกลับไปใช้ชีวิตที่บ้าน
ติดต่อเพื่อเข้ารับการรักษาแบบอยู่ประจำ
ครอบครัวบำบัด: หนึ่งในเทคนิคจิตบำบัดหลักของการบำบัดรักษา
เมื่อคุณตัดสินใจมารักษาที่ศูนย์บำบัดยาเสพติด เดอะดอว์น เชียงใหม่ ครอบครัวของคุณจะมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ก่อนการบำบัด ระหว่างการบำบัด ไปจนถึงหลังเสร็จสิ้นการบำบัด โดยใช้เทคนิคจิตบำบัดแนวซาเทียร์ (Satir Family Therapy Model)
- ก่อนเริ่มการบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกของศูนย์จะทำข้อตกลงร่วมกับผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดและครอบครัว โดยตั้งเป้าหมายในการรักษาร่วมกัน
- เมื่อผู้ติดยาเสพติดเข้ามาที่ศูนย์เพื่อเริ่มการรักษา คุณและครอบครัวจะได้พบกับนักจิตวิทยาคลินิก เพื่อทำการประเมินครอบครัว และทบทวนเป้าหมายที่ตั้งไว้
- ระหว่างการบำบัด ของผู้ติดยาเสพติด นักจิตวิทยาคลินิกจะทำครอบครัวบำบัดและให้สุขภาพจิตศึกษา (Psychoeducation) แก่ครอบครัวทางโทรศัพท์ทุกสัปดาห์ ครั้งละ 45 นาที
- ก่อนจบหลักสูตรการบำบัด ทางครอบครัวจะได้รับเชิญมาที่ศูนย์ เพื่อพบปะพูดคุยกับนักจิตวิทยาคลินิกประจำตัวของผู้เข้ารับบำบัด โดยในช่วงเช้าครอบครัวกับนักจิตวิทยาคลินิกจะพูดคุยหารือกัน เพื่อให้สุขภาพจิตศึกษา (ความรู้เรื่องการสนับสนุนผู้เข้ารับบำบัดในระยะแรกของการเลิกยา) และทำจิตบำบัด จากนั้นในช่วงบ่ายผู้เข้ารับบำบัดและครอบครัวจะได้พบกันเป็นการส่วนตัวครึ่งชั่วโมง ตามด้วยการพูดคุยหารือ 3 ฝ่าย ระหว่างผู้เข้าบำบัด ครอบครัว และนักจิตวิทยาอีก 1 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อทำความเข้าใจและสรุปแผนป้องกันการกลับไปเสพติดซ้ำ
ความรู้ที่ครอบครัวจะได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมครอบครัวบำบัด
การทำครอบครัวบำบัดที่ศูนย์บำบัดของเรา เป็นการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ:
- ผลของยาเสพติดที่มีต่อสมองและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้ยาเสพติด
- การเปลี่ยนแปลงทางความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของผู้ติดยาเสพติด
- บทบาทหน้าที่ของครอบครัวต่อการช่วยเหลือผู้เลิกสารเสพติดให้มีความคิดอารมณ์และพฤติกรรมที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินชีวิตต่อไป
- วิธีการฟื้นฟูสัมพันธ์ภาพของคนในครอบครัว
ให้เราช่วยคุณเริ่มต้นการเดินทางสู่สุขภาวะที่ดีตั้งแต่วันนี้
ประกาศ
ณ ปัจจุบัน ศูนย์ของเรา ได้ยุติการให้บริการบำบั
เดอะดอว์นขอขอบคุณทุกความไว้วางใจมา ณ ที่นี้