พฤติกรรมแย่ๆ ของพ่อแม่ที่เป็นพิษร้ายต่อจิตใจลูก

6 พฤติกรรมและคำพูดของพ่อแม่ที่เป็นพิษต่อจิตใจลูกๆ และวิธีรับมือ

ผู้ที่เป็นพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่สมบูรณ์แบบเสมอไป และถึงวิธีการเลี้ยงลูกอาจไม่ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็น ในบางจังหวะ ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่ต้องเรียนรู้กันไป แต่หากพ่อแม่แสดงพฤติกรรมในเชิงลบอย่างต่อเนื่อง พฤติกรรมเหล่านี้ก็จะส่งผลลัพท์แง่ลบต่อจิตใจและพัฒนาการของลูกๆ ในวัยผู้ใหญ่ได้

ในปัจจุบันคำว่า “เป็นพิษ” ได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการพูดถึงปัญหาสุขภาพจิต เพื่ออธิบายถึงพฤติกรรมที่เป็นปัญหาและบ่อนทำลายสุขภาพจิต โดยสำหรับพ่อแม่ที่ “เป็นพิษ” นั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองคนจะมีพฤติกรรมแย่ๆที่ส่งผลกระทบในแง่ลบในระยะยาวต่อจิตใจและพฤติกรรมต่างๆของลูกๆ ของตน ซึ่งมักจะดำเนินต่อเนื่องไปจนกระทั่งพวกเขาเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

แน่นอนว่า เราแทบทุกคนต่างก็เคยมีความทรงจำอันเจ็บปวดในวัยเด็กอยู่บ้าง แต่หากช่วงเวลาในวัยเด็ก มีแต่ความรู้สึกและความทรงจำในแง่ลบและความเจ็บปวดอย่างไม่ขาดสาย สิ่งเหล่านี้ก็จะ “เป็นพิษ” ต่อสุขภาพจิต ที่สามารถกลายมาเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึก และ/หรือ นำไปสู่การสร้างรูปแบบพฤติกรรมแบบผิดของเด็กๆ ในการตอบสนองกับปัญหาต่างๆได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว พฤติกรรมที่เป็นพิษของพ่อแม่มักเกิดมาจากปัญหาที่หยั่งรากลึกในตัวพ่อแม่ และเป็นข้อบ่งชี้ว่าพ่อแม่อาจต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ เช่นเดียวกับที่เด็กหรือลูกๆที่มีพ่อแม่ที่มีพฤติกรรมเป็นพิษ เด็กที่ได้รับควาทเสียหายทางสุขภาพจิตที่เกิดจากพ่อแม่ประเภทนี้ ก็มักต้องการความช่วยเหลือเช่นกัน

การทำความเข้าใจว่าพฤติกรรมของพ่อแม่ที่เป็นพิษนั้นเป็นอย่างไร และรับรู้ถึงผลกระทบของพฤติกรรมเหล่านี้ จะเป็นการเริ่มต้นการรับรู้และแก้ไขพฤติกรรมเหล่านี้เสียใหม่ รวมถึงการหาวิธีรับมือกับพฤติกรรมที่เป็นพิษอย่างเหมาะสมอีกด้วย

พฤติกรรมเป็นพิษ 6 ประเภทจากพ่อแม่

ในขณะที่เป็นเรื่องปกติที่คนเป็นพ่อแม่จะทำผิดบ้าง แต่เมื่อความผิดพลาดเหล่านี้เริ่มเป็นรูปแบบของพฤติกรรมในแง่ลบอย่างต่อเนื่อง ก็ถือว่าเป็นก้าวข้ามเส้นแบ่งของการทำความผิดตามปกติไปแล้ว และเมื่อผ่านไปนานๆ พฤติกรรมเหล่านี้ก็สามารถทิ้งรอยแผลทางอารมณ์ที่บาดลึกอยู่ในใจของเด็กๆ และทำให้พวกเด็กอาจไม่สามารถมีสัมพันธภาพที่ดีได้ในอนาคต

1. การดูถูกและการเยาะเย้ยเสียดสี

การดูถูกเหยียดหยามส่งผลกระทบต่อการมองเห็นคุณค่าของตัวเองเป็นอย่างยิ่ง และแม้กระทั่งการดูถูกเหยียดยามในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถตราตรึงอยู่ในความทรงจำของคนเราได้อย่างยาวนาน ซึ่งพ่อแม่ที่เป็นพิษมักใช้การดูถูกซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อสร้างวินัย หรือลดทอนความมั่นใจของเด็กๆ ทั้งที่บ้านและในที่สาธารณะ ซึ่งบ่อยครั้งจะทำลายความเคารพตัวตนของเด็กๆ ให้ลดลงไป และผลกระทบนี้สามารถคงอยู่แม้กระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว

การเยาะเย้ยเสียดสีหรือถากถางของพ่อแม่ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการดูถูก ถึงแม้จะเป็นการเหน็บแนมที่เหมือนจะมีอารมณ์ขัน แต่สำหรับเด็กที่ถูกเหน็บแนมและเสียดสี เด็กๆ มักรู้สึกเจ็บปวด อับอาย และรู้สึกราวกับความรู้สึกหรือความไม่พอใจของตัวเอง เป็นสิ่งที่ไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด

2. การปฏิเสธความรับผิดชอบ

อีกรูปแบบหนึ่งของพฤติกรรมที่เป็นพิษของพ่อแม่ก็คือ การไม่ยอมรับในหน้าที่รับผิดชอบของตัวเอง ซึ่งรวมถึงการไม่ยอมรับผิดในการกระทำของตัวเอง หรือรับรู้ถึงพฤติกรรมหรือปฏิกิริยาอันย่ำแย่ของตนเอง โดยมักจะโยนความเลวร้ายต่างๆ ไปที่ลูกๆ แทน ตัวอย่างเช่นคำพูดที่ว่า

“เหตุผลที่เราหลงทางก็เพราะแกไม่ยอมหุบปากตอนที่ชั้นขับรถ เป็นความผิดของแกแท้ๆ”

“ทำไมชั้นต้องช่วยแกทำการบ้านด้วยล่ะ ก็มันหน้าที่ของแกแท้ๆ ไม่เกี่ยวอะไรกับชั้นสักหน่อย”

“ถ้าแกไม่ทำให้ฉันโกรธ ชั้นก็คงไม่ตีแก ตัวแกนั่นแหละที่ต้องเปลี่ยนนิสัย”

3. การโต้เถียงอย่างไม่รู้จักจบ

การพูดคุยกันและทำความเข้าใจในเรื่องความแตกต่างของคู่สมรสเป็นเรื่องปกติชีวิตคู่ และเมื่อทำอย่างถูกต้อง ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีต่อเด็กๆ ต่อการเรียนรู้เรื่องของการรับมือกับความขัดแย้งและความเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่โชคร้ายที่ว่าพ่อแม่ที่เป็นพิษนั้น มักจะร้ายกาจใส่กันด้วยการโต้เถียงที่ไม่สร้างสรรค์ที่บ่อยครั้งมักจะเกิดขึ้นต่อหน้าลูกๆ ไม่ว่าจะเป็นการกรีดร้องใส่กันแบบไม่รู้จบ หรือไม่ยอมพูดกันดีๆทำสงครามเย็นเหมือนเป็นศัตรูกัน ซึ่งผลที่ได้ไม่เพียงแค่ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียดอย่างหนัก แต่จะดึงเอาลูกๆ เข้ามาสู่การโต้เถียงที่ไม่ทำให้เกิดผลดีอะไรเลย และกลับเป็นแบบอย่างที่เลวร้ายของการสื่อสารในเรื่องความแตกต่างกันอีกด้วย

4. การมีความลับต่อกัน

การมีความลับและการไม่ยอมรับความจริงเป็นพฤติกรรมที่พบบ่อยของพ่อแม่ที่เป็นพิษ เด็กๆ อาจถูกสั่งให้เก็บความลับเกี่ยวกับการที่ตัวเองถูกทำร้าย หรือปัญหาและความเลวร้ายที่เด็กๆ ได้เห็นหรือได้ยิน ตัวอย่างเช่น เด็กๆ อาจถูกสั่งไม่ให้บอกคนอื่นว่า เห็นพ่อแม่ดื่มเหล้าหรือใช้ยาเสพติด หรือเรื่องที่เห็นพ่อแม่ประพฤติผิดเรื่องชู้สาว ในกรณีที่เด็กๆ ถูกทำร้าย ก็อาจถูกสั่งไม่ให้บอกคนอื่น และ “ลืมเรื่องนี้ไปซะ” ความลับเหล่านี้ทำให้เด็กต้องอยู่ร่วมกับสิ่งต่างๆ ที่รู้สึกว่าเป็นสิ่งผิดและต้องเก็บกดเอาไว้ ทำให้ส่งกระทบด้านลบเป็นอย่างยิ่งต่อจิตใจของเด็กๆ

5. การให้เด็กทำหน้าที่ของผู้ใหญ่

สำหรับพฤติกรรมเป็นพิษประเภทนี้ ขอบเขตส่วนบุคลและความรู้สึกปลอดภัยในครอบครัวจะหายไป ทำให้เด็กๆ ต้องเป็นฝ่ายช่วยเหลือดูแลพ่อแม่ ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนของขอบเขตในครอบครัว (enmeshment) หรือเกิดปัญหาอย่างเช่น การร่วมประเวณีในครอบครัว (covert incest) การพูดคุยในเรื่องที่ไม่เหมาะสม และการไม่ตระหนักถึงความต้องการของเด็กๆ ในเรื่องขอบเขตความเป็นส่วนตัวกับขอบเขตในครอบครัว

ในกรณีที่พ่อแม่มีอาการป่วยทางจิตหรือใช้สารเสพติด เด็กๆ อาจต้องรับผิดชอบดูแลการกินอยู่หรือแม้แต่การไปทำงานของพ่อแม่ ซึ่งทำเกิดความเครียดอย่างใหญ่หลวงต่อเด็กๆ และขัดขวางพัฒนาการของเด็กๆ ซึ่งสามารถนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์แบบผิดปกติหรือความสัมพันธ์ต้องพึ่งพิงหรือยึดติดกับผู้อื่นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ซึ่งเกิดจากการขาดการได้รับการดูแลและความรักจากพ่อแม่

6. การไม่ให้เด็กแสดงความรู้สึกของตัวเอง

การไม่ปล่อยให้เด็กได้แสดงความรู้สึกของตัวเอง หรือการด้อยค่าความรู้สึกของเด็กๆ เป็นความเสียหายที่ร้ายแรงอีกรูปแบบหนึ่งของพ่อแม่ที่เป็นพิษ ซึ่งพ่อแม่ประเภทนี้มักแสดงออกมาด้วยคำพูดอย่างเช่นว่า

“แกไม่ได้หงุดหงิดไม่พอใจที่ไม่ได้ไปบ้านเพื่อน แกก็แค่พยายามทำให้ชั้นรู้สึกไม่ดี”

“ไม่มีใครสนใจหรอกว่าแกจะเสียใจแค่ไหน หยุดร้องไห้ได้แล้ว”

“ชั้นไม่ได้ถามความเห็นแก แกต้องทำในแบบที่ชั้นสั่ง”

“แกมีปัญหาอะไร ไม่มีอะไรที่แกต้องหงุดหงิดเลย พอได้แล้ว”

การสอนเด็กๆ ว่าความรู้สึกของพวกเขาไม่สำคัญ หรือพวกเขาไม่รู้หรอกว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร ทำให้เกิดความท้าทายอย่างรุนแรงต่อความเคารพตัวเองและความเข้าใจตัวเองเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

แล้วจะทำอะไรได้บ้าง…หากคุณเป็นพ่อแม่ที่มีพฤติกรรมเป็นพิษ

หากคุณพบว่าตัวเองกำลังมีพฤติกรรมใดที่เป็นพิษ ต่อไปนี้เป็นสิ่งสำคัญที่คุณสามารถทำได้ในทันที เพื่อเริ่มต้นการใคร่ครวญในพฤติกรรมตัวเองและเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลง

  • จดเรื่องที่คุณเห็นว่าเป็นปัญหาในพฤติกรรมหรือปฏิกิริยาของตัวเอง และสิ่งที่คุณอยากจะทำแทนที่เมื่อพฤติกรรมเหล่านั้นเกิดขึ้น
  • จัดลำดับความสำคัญในสิ่งที่คุณอยากเริ่มต้น
  • เมื่อพบกับสถานการณ์แบบนี้ให้เน้นไปที่การยุติปฏิกิริยาที่เคยชินและฝึกฝนการตอบสนองแบบใหม่
  • หลังจากนั้น ถามตัวเองว่าสิ่งที่ตนเองทำอยู่ได้ผลจริงหรือไม่ คุณรู้สึกดีขึ้นต่อพฤติกรรมการตอบสนองของตัวเองหรือเปล่า จำไว้ว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมต้องใช้เวลา และการตอบสนองของลูกคุณ ก็อาจต้องใช้เวลาที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากพวกเด็กๆ เคยชินกับพฤติกรรมหรือปฏิริยาที่เป็นพิษจากคุณมาก่อน

พ่อแม่จำนวนมากไม่ได้มีพฤติกรรมที่เป็นพิษ เพราะต้องการทำแบบนั้น แต่มักจะเนื่องจากมีปัญหาของตัวเองซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข ที่ทำให้เกิดการกระทำและพฤติกรรมดังกล่าว ประเด็นปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับการจัดการโดยมืออาชีพ ไม่เพียงเพื่อปกป้องสุขภาพจิตใจของลูกๆ แต่เพื่อทำให้ตัวคุณดีขึ้นอีกด้วย

สิ่งที่ควรทำหากคุณโตมาในครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นพิษ

สำหรับผู้ที่เติบโตมากับมีพ่อแม่ที่เป็นพิษ สิ่งสำคัญก็คือการวางขอบเขตที่ชัดเจนที่สามารถช่วยคุณควบคุมและจำกัดปฏิสัมพันธ์ที่คุณเคยมีกับพ่อแม่ อาจเป็นสถานการณ์หรือหัวข้อใดก็ได้ แต่จำเป็นต้องสื่อสารกันอย่างชัดเจน หนักแน่น และบังคับใช้อย่างสม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่น

  • การจัดเวลาในแต่ละสัปดาห์สำหรับการโทรศัพท์ แทนการโทรหาตลอดเวลาทั้งวัน
  • ยุติการโต้ตอบในทันทีและเดินออกจากบทสนทนา หากพ่อแม่ของคุณใช้การดูถูกดูหมิ่นหรือเริ่มต้นตำหนิคุณในเรื่องต่างๆ
  • ไม่เข้าร่วมกิจกรรมของครอบครัวบางอย่าง

ในวัยเด็ก ขอบเขตของคุณอาจถูกละเมิดอย่างต่อเนื่องโดยพ่อแม่ที่เป็นพิษ และดังนั้น จึงอาจเป็นเรื่องท้าทายที่จะตั้งขอบเขตความเป็นส่วนตัวขึ้นมาเมื่อคุณโตผู้ใหญ่ ซึ่งการรับความช่วยเหลือจากมืออาชีพจะสามารถช่วยคุณได้เป็นอย่างมาก ในการแยกแยะและระบุพื้นที่ส่วนตัวซึ่งจำเป็นต้องมีการวางขอบเขต การใคร่ครวญและการจัดการกับผลกระทบจากพ่อแม่ที่เป็นพิษ และการสร้างรูปแบบพฤติกรรมและวิธีต่างๆ ที่จะก้าวไปข้างหน้า

ยุติวงจรความเจ็บปวดจากบาดแผลในใจที่ ศูนย์สุขภาพจิต เดอะดอว์น

ศูนย์สุขภาพจิต เดอะดอว์น เชียงใหม่ มีหลักสูตรการรักษาแบบอยู่ประจำ สำหรับผู้ที่มองหาการทำความเข้าใจและการเอาชนะปัญหาของตัวเอง

ศูนย์บำบัดยาเสพติดและฟื้นฟูสุขภาพจิตเดอะดอว์น เชียงใหม่ มีหลักสูตรการรักษาแบบอยู่ประจำ สำหรับผู้ที่มองหาการทำความเข้าใจและการเอาชนะปัญหาของตัวเอง การเยียวยาบาดแผลทางใจในอดีต การค้นพบความสงบสุขทางจิตใจและการเติบโตสำหรับตัวเอง โดยทีมงานมืออาชีพที่มีประสบการณ์สูงในการรักษาบาดแผลทางใจ และเต็มไปด้วยความเข้าใจอกเข้าใจจะทำงานร่วมกับคุณ เพื่อสร้างแผนการรักษาที่ตรงตามเงื่อนไขและเป้าหมายส่วนตัวของคุณ ด้วยการผสมผสานองค์ประกอบทางจิตบำบัดแบบตะวันตกและวิธีการดูแลสุขภาพแบบตะวันออกที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ได้ผลในองค์รวมที่ยั่งยืน
โทรหาเรา เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่เราจะสามารถช่วยให้คุณเป็นอิสระจากวงจรอันเจ็บปวดของการมีพ่อแม่ที่เป็นพิษ และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีความสุข

ประกาศ

ณ ปัจจุบัน ศูนย์ของเรา ได้ยุติการให้บริการบำบัดภาคภาษาไทย

เดอะดอว์นขอขอบคุณทุกความไว้วางใจมา ณ ที่นี้

ให้เราช่วยคุณเริ่มต้นการเดินทางสู่สุขภาวะที่ดีตั้งแต่วันนี้

โทร: 083 204 8384