เรียนรู้สัญญาณเตือนของการเสพติดที่จะช่วยคุณพบวิธีการช่วยคนที่คุณรักออกจากวงจรการเสพติด

8 สัญญาณเตือนของการเสพติดที่บอกว่า…คุณควรต้องช่วยเหลือให้คนที่คุณรักเข้าสู่การบำบัดได้แล้ว

การรับรู้ว่าคนที่เรารักมีปัญหาการเสพติด เป็นสิ่งที่ทำให้ใครๆ ก็หัวใจสลาย แต่อย่าลืมว่าคนที่คุณรักซึ่งอยู่ใต้อำนาจของการเสพติดนั้นต้องทุกข์ทนกว่าเป็นร้อยเท่าพันทวี หากคุณไม่เอื้อมมือเข้าช่วยเหลือ โดยเฉพาะเมื่อเห็นสัญญาณเตือนของการเสพติดเหล่านี้ ที่คุณควรลุกขึ้นมาเพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าสู่การบำบัดได้แล้ว

แน่นอนว่าการเผชิญหน้ากับคนที่คุณรักในปัญหาเรื่องการเสพติด เป็นเรื่องที่ยากมากถึงยากที่สุด แต่การใช้ความกล้าหาญในการก้าวเข้าไปแทรกแซงพฤติกรรมการเสพติดของพวกเขา เพื่อโน้มน้าวให้เข้ารับการบำบัดรักษา เป็นเรื่องจำเป็นและเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนที่คุณรัก เพื่อให้พวกเขากลับสู่เส้นทางที่มีความสุขกว่าเดิม และหนึ่งในความท้าทายสำคัญที่สุดที่เราต้องเจอในการเข้าหาผู้ที่มีปัญหาการเสพติด คือการที่เขาเหล่านั้นไม่ยอมรับถึงปัญหาของตัวเอง และมักรู้สึกว่าการเข้ามาแทรกแซงของผู้อื่นคือการ “กล่าวหา” คุณจึงมักจะเจอกับท่าทีที่ไม่เป็นมิตรและความโกรธเกรี้ยว

ในความเป็นจริง การที่จะเข้าแทรกแซงพฤติกรรมของใครสักคน ด้วยการเดินไปถามเอาดื้อๆ ว่า พวกเขามีปัญหาการดื่มหรือใช้สิ่งเสพติดหรือเปล่า การจะได้รับคำตอบอย่างตรงไปตรงมา ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้น ก่อนที่กระบวนการแทรกแซงพฤติกรรมการเสพติดจะเกิดขึ้นได้ คุณต้องเล่นบทนักสืบ เพื่อที่จะดูว่าปัญหาของคนที่คุณรักนั้นอยู่ในระดับใด หากสังเกตเห็นสัญญาณเตือนบางอย่าง ที่อาจบ่งชี้ถึง “จุดอันตราย” ของพวกเขา การแทรกแซงก็เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับคุณแล้ว

8 สัญญาณเตือนอาการเสพติดที่บอกว่า..ถึงจุดอันตรายแล้ว

คนที่มีปัญหาการเสพติดมักปิดบังพฤติกรรมตัวเอง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง จะมีหลายสัญญาณที่บ่งชี้ได้ว่า ปัญหาการเสพติดนั้นกำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ และถึงเวลาที่ผู้เป็นที่รักควรต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือ

  • พฤติกรรมการหลบซ่อนที่มากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างที่บอกไปแล้วว่า ผู้ที่มีปัญหาการเสพติดมักจะพยายามปิดบังพฤติกรรมของตัวเอง เช่น เอาขวดเหล้าไปซ่อน หรือไปร่วมงานสังคมโดยที่มึนเมาไปแล้ว เพียงเพื่อไม่ให้คนอื่นเห็นว่าตนเองดื่มเยอะ แต่ยิ่งพวกเขาพยายามตบตาคุณมากแค่ไหน ก็ยิ่งแสดงว่าการเสพติดของเขามาถึงจุดที่คุณควรเข้าแทรกแซง เพื่อผลักดันให้พวกเขายอมรับความจริงและเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา

  • รูปลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

รูปลักษณ์ของผู้ที่เสพติดจะทรุดโทรมลง เนื่องจากเป้าหมายของผู้มีปัญหาการเสพติดมีแต่เพียงการแสวงหาเหล้าหรือสารเสพติดที่ตัวเองต้องการ ทำให้ละเลยเรื่องของรูปลักษณ์ของตนเอง ไม่ได้สนใจว่าเสื้อผ้าจะยับยู่ยี่เพียงใด ผู้ชายอาจโกนหนวดน้อยลง ดูเหนื่อยหรืออิดโรยอยู่เกือบจะตลอดเวลา ซึ่งโดยปกติแล้ว ผู้ที่มีปัญหาการเสพติดมักจะต้องการปิดบังพฤติกรรมของตนเอง เช่นผู้หญิงบางคนอาจจะพยายามตบตาด้วยการแต่งหน้ามากขึ้น ดังนั้น เมื่อถึงจุดที่พวกเขาเหล่านี้ปล่อยปละละเลยตนเองจนทำให้รูปลักษณ์ทรุดโทรม ก็แสดงว่าปัญหาการเสพติดของพวกเขานั้นกำลังหนักมากขึ้นเรื่อยๆ

  • ดื่ม, ใช้ หรือเสพ สารเสพติดในปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผู้ที่ติดเหล้าหรือติดสารเสพติด มักจะต้องเพิ่มปริมาณการใช้สารเสพติดเพื่อที่จะได้รับผลแบบที่ตนเองต้องการ เนื่องจากยิ่งพวกเขาเสพสารเสพติดมากเท่าไหร่ ร่างกายก็จะเกิดอาการ “ดื้อยา” ทำให้ต้องการสารเสพติดมากขึ้น

  • หลงๆ ลืมๆ

อาการหลงลืมหรือความจำไม่ดีเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ที่ใช้สารเสพติดมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดอาการเสื่อมของสมอง การหลงลืมเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น การนัดหมายกับคนอื่น แล้วไม่ไปตามนัด เป็นสัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะเมื่อเกิดควบคู่กับพฤติกรรมและนิสัยอื่นๆ ที่พบในผู้ที่มีปัญหาการเสพติด

  • เกิดปัญหาทางการเงิน

ปัญหาการเงินที่อธิบายไม่ได้มักเป็นสัญญาณบอกเหตุอีกอย่างหนึ่ง ผู้มีปัญหาการเสพติดอาจขอยืมเงินจากคนในครอบครัวหรือเพื่อนบ่อยขึ้น และให้เหตุผลแก้ตัวที่หลากหลาย จำนวนหนี้สินที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายที่ค้างชำระ อาจเป็นสัญญาณว่าพวกเขาใช้เงินมากกว่าที่ควรจะเป็นตามปกติ

  • อารมณ์แปรปรวน

ผู้ที่มีปัญหาการเสพติดมักจะแสดงพฤติกรรมที่ไร้เหตุผล มีอารมณ์แปรปรวนขึ้นๆ ลงๆ ไม่ใช่เพียงแต่อารมณ์โกรธหรือหงุดหงิด แต่ยังรวมถึงอาการร่าเริงผิดปกติ หรืออาการซึมเศร้า และบ่อยครั้งการแสดงอารมณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย

  • ต่อต้านสังคมเพิ่มมากขึ้น

พฤติกรรมการเก็บตัวเช่นนี้จะเริ่มพบได้มากขึ้น เมื่อพวกเขาต้องการความเป็นส่วนตัวเพื่อให้อยู่ห่างจากคนที่อาจรบกวนการดื่มเหล้าหรือการใช้สารเสพติดของตนเอง

  • แสดงปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น

เมื่อมีการใช้สิ่งเสพติดหรือดื่มสุรามากขึ้น อาการผิดปกติทางจิตบางอย่างที่เคยเป็นเพียงเล็กน้อย และไม่บ่อยครั้ง เช่น อาการของโรคซึมเศร้า หรือวิตกกังวล จะเริ่มเพิ่มมากขึ้นและมีอาการแย่ลงจนเริ่มสังเกตเห็นได้ง่ายขึ้น

คุณจะลงมือแทรกแซงอย่างไรดี

การแทรกแซงที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องทำอย่างระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นก็มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง คนที่คุณรักอาจรู้สึกเหมือนโดนโจมตี โดนทำร้าย และต่อต้านการรักษา โดยทั่วไปแล้ว การแทรกแซงที่ประสบผลสำเร็จควรมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • หาข้อมูล คุณควรหาให้ได้ก่อนว่าการเสพติดของคนที่คุณรักเป็นอย่างไรและอยู่ในระดับไหน
  • ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเสพติด ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาถึงสถานการณ์ของแต่ละคน เสนอแนะวิธีการที่ดีที่สุด แนะแนวทางการรักษา รวมถึงการวางแผนการรักษา โดยปกติผู้เชี่ยวชาญด้านการเสพติดจะไม่เข้าร่วมการแทรกแซงด้วย แต่การมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาจะทำให้การเข้าแทรกแซงมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น
  • รวมกลุ่มผู้ที่จะแทรกแซง คุณไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับเรื่องนี้เพียงลำพัง แต่ควรพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนๆ เพื่อที่จะได้ข้อมูลเพิ่มเติมและแบ่งปันมุมมองซึ่งกันและกันเพื่อช่วยเหลือผู้เสพติด
  • วางแผน เมื่อได้ข้อมูลและคำแนะนำที่จำเป็นจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว คุณควรวางแผนกระบวนการแทรกแซงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่การเริ่มพูดคุย การรับมือกับท่าทีที่ไม่เป็นมิตรของผู้ที่มีปัญหาการเสพติด คุณควรเสนอแนะแผนการรักษาที่วางแผนมาแล้วอย่างดี พร้อมขั้นตอนที่ชัดเจน
  • เลือกผู้ที่จะเป็นคนประสานการสนทนา นอกจากจะควรคิดถึงสิ่งที่จะพูดอย่างรอบคอบแล้ว ในระหว่างการพูดคุยก็ควรเลือกใครสักคนที่จะทำหน้าที่เป็นตัวประสาน ที่จะคอยดึงไม่ให้การสนทนาออกนอกลู่นอกทาง
  • เตรียมรับมือกับการปฏิเสธ คุณไม่มีวันรู้จริงๆ ว่าพวกเขาอาจมีปฏิกิริยาอย่างไรกับการแทรกแซง การให้เขารู้ว่ามีความช่วยเหลือรออยู่ อาจเปิดใจของผู้เสพติดถึงความเป็นไปได้ที่จะเข้ารับการรักษา แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น คุณก็ต้องไม่ยอมแพ้ที่จะเริ่มต้นอีกครั้ง

สิ่งที่ “ห้ามทำหรือไม่ควรทำ” ในระหว่างการแทรกแซง

การแทรกแซงอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง ความโกรธ และความไม่พอใจได้ เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้การแทรกแซงต้องล้มเหลว นอกจากสิ่งที่คุณสามารถทำได้แล้ว ก็มีบางสิ่งที่ “ไม่ควรทำ” อย่างเช่น

  • อย่าเริ่มการแทรกแซงแบบโผงผางเข้าไปทันที การลุกขึ้นเผชิญหน้าผู้ที่มีปัญหาการเสพติดโดยปราศจากการวางแผนที่ดี มีแต่จะทำให้พวกเขาเกิดการต่อต้าน และทำให้การช่วยเหลือเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
  • อย่าพูดคุยในขณะที่คนที่คุณรักอยู่ในอาการมึนเมา การพูดคุยขณะที่ผู้เสพติดยังมีสติ อย่างน้อยก็ในขณะพูดคุย จะทำให้การหว่านล้อมของคุณมีโอกาสมากขึ้น
  • อย่าเลือกคนที่พวกเขาไม่ชอบ รวมถึงคนที่อาจทำให้การแทรกแซงล้มเหลว เช่น สมาชิกในครอบครัวที่ผู้เสพติดไม่รับฟัง หรือหรือเป็นคนในครอบครัวที่มีการเสพติดเสียเอง
  • อย่าใช้ความรู้สึกผิดเป็นแรงกดดัน อย่าใช้ความโกรธหรือคำกล่าวหา อย่าใช้การแทรกแซงเป็นการโจมตี เพื่อตำหนิหรือติเตียน การแสดงอารมณ์ในแง่ลบ มีแต่จะทำให้คนที่คุณรักเจ็บปวด และต่อต้าน
  • อย่ายอมแพ้เมื่อครั้งแรกไม่ได้ผล ผู้เสพติดมักไม่ยอมรับปัญหาของตัวเอง การดึงพวกเขาออกมาจากปัญหาการเสพติด อาจต้องใช้การพยายามหลายครั้งก็ได้ แต่ก็อย่ายอมแพ้ เป้าหมายหลักของการแทรกแซง คือการให้คนที่คุณรักเข้าสู่การรักษาทันทีหลังการแทรกแซง

รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพที่เดอะดอว์น เชียงใหม่

ศูนย์บำบัดยาเสพติด เอกชน เดอะดอว์นเชียงใหม่ ช่วยครอบครัวทำความเข้าใจการเสพติดของคนที่คุณรักและช่วยกันประคับประคองให้ผู้เสพติดออกจากวงจรการเสพติดอย่างยั่งยืน

เมื่อคุณสังเกตถึงสัญญาณเตือน ที่ควรเข้าแทรกแซงคนที่คุณรักที่มีปัญหาการเสพติด และเกิดคำถามว่าควรเริ่มต้นอย่างไร  ศูนย์บำบัดยาเสพติด เอกชน เดอะดอว์น มีผู้เชี่ยวชาญด้านบำบัดการเสพติดที่สามารถให้คำแนะนำ เพื่อช่วยให้กระบวนการแทรกแซงของคุณมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงสุด รวมถึงคำแนะนำในเรื่องแผนการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

หลักสูตรการรักษาของเดอะดอว์น มีการรักษาแบบ “ครอบครัวบำบัด” ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยผู้เสพติด แต่ยังช่วยผู้คนรอบข้างมีความรู้ ความเข้าใจในการรับมือกับการเสพติด และแข็งแรงพอที่จะช่วยประคับประคองผู้เสพติดไม่ให้กลับไปเสพซ้ำอีกด้วย

หากคุณสนใจในการเข้ารับการบำบัดที่ศูนย์บำบัด เดอะดอว์น เชียงใหม่ ติดต่อแผนกแรกรับของเราวันนี้ เพื่อรับข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนสู่การเข้ารับการบำบัด

ประกาศ

ณ ปัจจุบัน ศูนย์ของเรา ได้ยุติการให้บริการบำบัดภาคภาษาไทย

เดอะดอว์นขอขอบคุณทุกความไว้วางใจมา ณ ที่นี้

ให้เราช่วยคุณเริ่มต้นการเดินทางสู่สุขภาวะที่ดีตั้งแต่วันนี้

โทร: 083 204 8384