เคตามีน ยาที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มความสนุกจอมปลอม และสิ่งที่ตามมาก็คือปัญหาอันหนักหนาสาหัส ที่อาจถึงกับคร่าชีวิตของคุณได้เลย
ในขณะที่หลายคนอาจไม่รู้สึกว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใกล้ตัว แต่มันก็อาจไม่ได้อยู่ไกลจากเราอย่างที่คิดก็เป็นได้ เพราะยาเสพติดในปัจจจุบันแปลงโฉมมาหลายรูปแบบ อย่างเช่นยาเสพติดที่เรียกกันว่า “Club Drugs” ซึ่งนิยมใช้ตามคลับตามบาร์ หรือในงานปาร์ตี้ ด้วยความเชื่อที่ว่ามันสามารถเพิ่มความสนุกในการสังสรรค์ให้ได้
แต่จากข่าวพาดหัวในหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นที่ฮือฮาเมื่อไม่นานมานี้ ถึงการเสียชีวิตของวัยรุ่นจากการเสพยาที่เรียกว่า “เคนมผง” ก็คงกระตุกให้คนในสังคมเริ่มหันมาตระหนักได้ว่า อันตรายของยาเสพติด โดยเฉพาะยาที่ใช้เสพเพื่อเพิ่มความสนุกชั่วคราวนั้น อาจอยู่ใกล้กับคนที่เรารักได้มากกว่าที่คิดจริงๆ
และ “ยาเค” ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของ “เคนมผง” ก็เป็นหนึ่งใน Club Drugs ที่กำลังสร้างปัญหาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อยู่ในขณะนี้
“ยาเค” คืออะไร
นอกจากชื่อ “ยาเค” แล้ว ยาเสพติดชนิดนี้ยังมีชื่อเรียกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Special K, Vitamin K, super acid, super c, bump, cat Valium, kitkat, super K และ jet
แต่ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้ชื่ออะไร พื้นฐานของยาชนิดนี้ก็คือ “เคตามีน” (Ketamine) หรือชื่อทางการค้าว่า เคตาวา (Ketava) หรือเคตาลา (Ketalar) เป็นยาที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งแพทย์นำมาใช้ในกระบวนการดมยาสลบ โดยตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 เคตามีนจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ถือเป็นยาที่มีอันตรายสูง ซึ่งแพทย์จะจ่ายให้กับผู้ป่วย เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น
ยาเค..ทำให้เกิดอะไรขึ้นกับเรา
ยาเคที่นำมาใช้ในการเสพติด มักอยู่ในรูปของเหลวหรือผงสีขาวหรือขาวขุ่น ที่นำมาสูดดมหรือผสมกับเครื่องดื่ม โดยยาเคจะไร้กลิ่น ไร้สี ไร้รส จึงสามารถนำเอามาผสมในเครื่องดื่มได้โดยที่ผู้ดื่มไม่รู้ตัว ทำให้มีรายงานการนำไปใช้เป็น “ยาเสียสาว” (date-rape drug) ซึ่งนอกเหนือจากจะทำให้เหยื่อไม่สามารถเคลื่อนไหวได้แล้ว ยังทำให้ไม่อาจทวนความจำถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะที่อยู่ใต้ฤทธิ์ยาด้วย
เนื่องจากเคตามีนมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท “ยาเค” จึงออกฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง ทำให้รู้สึกเคลิบเคลิ้ม (Euphoria) รู้สึกว่าตนเองมีอำนาจพิเศษ (Mystical) หลายคนถึงขั้นพูดว่าเหมือนวิญญาณออกจากร่างไปหาความสุข เสร็จแล้วค่อยกลับเข้าร่าง
ประสบการณ์เช่นนี้เรียกกันว่า “k-hole” ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือ ฤทธิ์ของยาทำให้ระดับสารเคมีในสมองเสียสมดุล และบิดเบือนความรู้สึกของผู้เสพ โดยจะมีฤทธิ์มึนเมาอยู่ในช่วงเวลาสั้นๆ ราวหนึ่งถึงสองชั่วโมง
สถานการณ์ยาเค..ที่ต้องเฝ้าระวัง
ยาเคเป็นยาในกลุ่ม NPS (New Psychoactive Substances) หรือสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทใหม่ ซึ่งในรายงานของ วารสารการพัฒนาสุขภาพชุมชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี 2560 ชี้ว่ามีความน่ากลัวไม่น้อยกว่ายาเสพติดชนิดอื่นๆ ผู้ใช้สาร NPS ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่น ซึ่งเข้าใจผิดคิดว่าเป็นยาเพิ่มความสนุก ที่ไม่เป็นอันตรายหรือมีผลข้างเคียงร้ายแรง ในสหรัฐฯ การแพร่ระบาดของสาร NPS พบในกลุ่มประชากรวัย 12-34 ปี โดยพบว่ามีความชุกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.4 ในปี 2011 เป็นร้อยละ 15.2 ในปี 2015
สำหรับในประเทศไทย จากการสำรวจของสำนักงาน ปปส เมื่อปี 2559 พบว่าคนไทยเคยเสพยาเคประมาณ 22,218 คน และจัดเป็นยาเสพติดที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะพบการแพร่ระบาดสูงขึ้น โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี พบว่า มีการนำเอาเคตามีนในรูปสารละลาย มาบรรจุขวดและระบุเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เช่น น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ น้ำยาละลายขี้หู เป็นต้น เพื่อให้ง่ายแก่การลักลอบขนส่งและขาย รวมถึงมีการสั่งซื้อผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ทำให้การแพร่หลายเป็นไปได้ง่ายดายยิ่งขึ้น
ทำไมยาเคถึงอันตรายนัก
ถึงแม้นักเสพจะใช้ยาเคเพื่อเพิ่มความสนุก แต่ด้วยฤทธิ์และผลข้างเคียงอันรุนแรงของเคตามีน ทำให้ยาเคส่งผลเสียที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจในหลายๆ เรื่อง และนี่คือ 7 เรื่องอันตรายของยาเคที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
1. อันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและหัวใจ
การใช้ยาเคในปริมาณมากจะทำให้เกิดการติดขัดในการหายใจ (Respiratory depression) ซึ่งอาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลว และอาจถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ยังเร่งอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้ความดันสูงขึ้น
2. อันตรายต่อระบบทางเดินปัสสาวะ
เนื่องจากฤทธิ์กัดกร่อนของสารเคมี ที่ไหลผ่านไตและทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง ทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะมีเลือดออก และมีอาการปวดขณะปัสสาวะ แม้แต่ผู้ที่ใช้ยาเคเป็นครั้งคราว ก็รายงานถึงอาการปวดขณะปัสสาวะ สำหรับผู้ที่เสพอย่างต่อเนื่อง ในเพียงไม่กี่เดือนกระเพาะปัสสาวะก็แทบจะถูกทำลายได้
3. อันตรายต่อสมอง
ฤทธิ์หลอนประสาทของยาเคไม่เพียงแต่ทำให้เกิดผลเสียต่อจิตใจ แต่งานวิจัยชี้ว่าการใช้ยานี้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการทำงานของสมอง ทำให้สมองเสื่อม ความจำเสื่อม การรับรู้ของสมองเสื่อมถอยลง ซึ่งอาจเกิดได้อย่างถาวร
4. การเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ
การเสพยาเคอย่างต่อเนื่องส่งผลให้กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง การเคลื่อนไหวของร่างกายจึงทำงานไม่สอดประสานกัน เกิดอาการเดินเซ หกล้มได้ง่าย ซึ่งนี่ยังรวมไปการพูดและการมองเห็น ที่ทำใหเกิดอาการลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด และสายตาพร่าเลือนอีกด้วย
5. ยาเคเสพติดได้ง่ายกว่าที่คิด
เนื่องจากยาเคจะมีฤทธิ์ค่อนข้างสั้น ผู้เสพจึงอาจที่จะเสพซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้สัมผัสกับภาวะมึนเมานานขึ้น ยิ่งใช้บ่อยก็ยิ่งทำให้ก้าวเข้าสู่การพึ่งพิงยา จนทำให้เกิดการเสพติดได้ง่ายขึ้น
6. การใช้ยาเกินขนาดเกิดขึ้นได้ง่ายมาก
ยาเคส่งผลต่อผู้ใช้แตกต่างกัน และไม่สามารถคาดเดาได้ว่าต้องใช้ปริมาณเท่าไหร่เพื่อให้ได้ความมึนเมาเท่าเดิม จึงมักจะนำไปสู่การใช้ยาเกินขนาดหรือโอเวอร์โดสได้ง่าย หรือบางทีการใช้ยาเกินขนาดสามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้ยาเคเล็กน้อย หากใช้ร่วมกับยาอื่นหรือแอลกอฮอล์
7. คุณสามารถลงเอยด้วยการเป็นคนวิกลจริต
เมื่อใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ฤทธิ์หลอนประสาทของยาเคสามารถทำให้ผู้เสพประสพกับสภาวะโรคจิต จนกลายเป็นคนวิกลจริตได้ในที่สุด
สังเกตอย่างไรว่า..ใครอาจใช้เคตามีน
การนำเคตามีนมาใช้ในทางที่ผิดส่งผลต่อผู้คนแตกต่างกัน สัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกว่าคนๆ นั้นอาจกำลังใช้เคตามีนอยู่ก็อย่างเช่น
- ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่อาจสังเกตได้ เช่น
- มีรอยแดงบนผิว
- พูดไม่ชัดแบบคนลิ้นแข็ง
- มีปัญหาในการพูด ลูกตากรอกไปมา
- สูญเสียความสมดุลของการทรงตัวและการเคลื่อนไหว
- ความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น
- หงุดหงิด
- กระสับกระส่าย
- มีอาการสับสนมึนงง
- อารมณ์แปรปรวน
- มีอาการซึมเศร้า
- ความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม เช่น
- นอนไม่หลับ
- ละทิ้งความรับผิดชอบเรื่องการเรียนหรือการทำงาน
- ละทิ้งเพื่อนฝูงและครอบครัว
อยากเลิกยาเค..เริ่มต้นอย่างไร
การเสพติดเคตามีนเป็นสิ่งที่ยากจะเอาชนะ ถึงแม้คนๆ นั้นอยากที่จะหยุดใช้ยาก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองทำให้เกือบเป็นไปไม่ได้ที่จะหยุดใช้ยาโดยปราศจากความช่วยเหลือจากมืออาชีพ
การถอนพิษยาเคเป็นขั้นตอนแรกในกระบวนการรักษา เพื่อให้ยาถูกขับออกจากระบบของผู้ใช้ การหยุดใช้ยาเป็นกระบวนการถอนพิษยาซึ่งค่อนข้างทรมาน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ อาการทางจิตที่เกิดขึ้นในช่วงการถอนพิษยาที่อันตรายที่สุดก็คือ อาการซึมเศร้าอย่างรุนแรง
อาการของการถอนพิษยา ที่พบกันส่วนใหญ่ได้แก่
- ซึมเศร้า วิตกกังวล
- กระสับกระส่าย
- สับสนมึนงง
- ประสาทหลอน
- สูญเสียความสมดุลของการเคลื่อนไหว
- โมโหฉุนเฉียวรุนแรง
- คลื่นไส้
- การทำงานของระบบหายใจและหัวใจเพิ่มขึ้น
- นอนไม่หลับ ฝันร้าย
- ร่างกายสั่นเทา หนาวสั่น หรือเหงื่ออกมาก
- อ่อนเพลีย
- ไม่อยากอาหาร
ช่วงเวลาของการถอนพิษยาเคอาจกินเวลาตั้งแต่ 72 ชั่วโมงไปจนถึงหลายสัปดาห์ อาการมักจะเกิดขึ้นในช่วง 24-72 ชั่วโมงหลังยาโดสสุดท้าย และจะอยู่นานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับปริมาณยาในร่างกายของผู้เสพติด ระดับความดื้อยา ระยะเวลาที่ใช้ รวมถึงมีการใช้ยาอื่นร่วมด้วยหรือไม่
การบำบัดรักษาการเสพติดยาเคอย่างได้ผล
ถึงแม้การติดยาเคตามีนจะเอาชนะได้ค่อนข้างยาก เพราะส่วนใหญ่ผู้เสพมักจะมีโรคทางอารมณ์อย่างอื่นร่วมด้วย หรือมีการใช้ยาอื่นๆ แต่ก็ยังมีทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการรักษา มีทั้งการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy – CBT) ในรูปแบบการบำบัดรายบุคคลและการบำบัดแบบกลุ่ม หรืออาจมีการใช้ยาเพื่อรักษาอาการทางจิตเวชที่เป็นโรคร่วมด้วย ซึ่งอาจต้องใช้เวลาการรักษาตั้งแต่ 28 วันไปจนถึงหลายเดือนก็ได้ โดยการรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะให้แน่ใจถึงความสำเร็จในการฟื้นฟูผู้เสพติด
ศูนย์บำบัดเคตามีน เดอะดอว์น เชียงใหม่ ช่วยคุณได้อย่างไร
ศูนย์บำบัดเคตามีน เดอะดอว์น เชียงใหม่ มีหลักสูตรเลิกยาเคที่มีคุณภาพและถูกหลักวิชา บุคลากรของเรามีความช่ำชองในการช่วยผู้ที่ติดยาเคให้เลิกเสพ และสามารถก้าวข้ามผลเสียที่เกิดจากการเสพยาชนิดนี้ได้
หลักสูตรการรักษาของเราเน้นแก้ปัญหาที่เป็นต้นตอของการเสพติด เพื่อให้คุณควบคุมความคิดและความรู้สึกของตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งสิ่งเสพติด คุณจะได้เรียนรู้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คุณหันไปใช้ยา และจะได้เรียนรู้วิธีการป้องกันไม่ให้ตัวเองกลับไปเสพอีกนอกจากนี้คุณยังจะได้ฝึกทักษะที่นำไปใช้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้โดยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย
คุณสามารถเอาชนะการเสพติดยาเคตามีนได้ อย่าเสียเวลาในชีวิตแม้แต่อีกนาทีเดียวไปกับการติดยาเคตามีน และเริ่มต้นก้าวแรกของการฟื้นฟูตั้งแต่เดี๋ยวนี้
ติดต่อแผนกแรกรับของเราวันนี้ เพื่อรับข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนสู่การเข้ารับบำบัดที่ศูนย์ของเรา
รู้หรือไม่ “เคนมผง” อันตรายถึงชีวิตที่อาจเกิดขึ้นได้แม้เสพครั้งแรก!
ยาเค...ว่าอันตรายแล้ว แต่ในตอนนี้ ที่อันตรายยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ “เคนมผง” ซึ่งพล.ต.ต.ธนิต จิรนันท์ธวัช นายแพทย์หัวหน้ากลุ่มงานพยาธิวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เผยว่า ส่วนประกอบของ “ยาเคนมผง” ที่มีการนำมาใช้เสพและพบอันตรายถึงชีวิตนั้น เป็นการนำยาเคมาผสมร่วมกับยาเสพติดอื่น ได้แก่ ยาไอซ์ เฮโรอีน และยานอนหลับที่เรียกว่า ‘โรเซ่’ นำมาบดรวมกันจนละเอียดคล้ายนมผง จึงเป็นที่มาของชื่อ “เคนมผง”
เนื่องจากเป็นการผสมยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทรุนแรงหลายตัวร่วมกัน จึงทำให้เกิดการเสริมฤทธิ์ของยา ทำให้ผลข้างเคียงต่างๆ ของยาเคเพิ่มมากขึ้น จากการศึกษาของต่างประเทศพบว่า การใช้ยาเคร่วมกับยาอื่น ทำให้พบผู้เสพใช้ยาเกินขนาดได้มากขึ้น จนทำให้เสียชีวิตจากฤทธิ์กดการหายใจ หรือฤทธิ์รบกวนการทำงานของหัวใจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ แม้จะเพิ่งเสพเป็นครั้งแรกก็ตาม