เรียนรู้วิธีการรับมือและหนทางสู่การเลิกยาแบบยั่งยืน หากคุณมีภาวะโรคร่วม

การรักษาภาวะโรคร่วม…หนทางสู่การหยุดการเสพติดแบบยั่งยืน

การเสพติดทุกอย่างล้วนมีที่มา และหนึ่งในที่มาหรือ “ต้นตอ” สำคัญของการเสพติดที่หลายคนอาจไม่ตระหนัก นั่นก็คือปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตใจ ที่ต้องการการเยียวยาไปพร้อมกัน เพื่อจะหยุดการเสพติดได้อย่างยั่งยืน

ด้วยความซับซ้อนของความคิดและจิตใจของคนเรา บางครั้งพฤติกรรมบางอย่างของเราส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและจิตใจของเราโดยไม่รู้ตัว เช่น ความเครียดอาจกระตุ้นให้บางคนแสวงหาการผ่อนคลายจากสารเสพติด ในขณะที่การใช้สารเสพติดก็ทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตและความเครียดได้เช่นกัน

ความทุกข์ทรมานจากการเสพติด จึงไม่ใช่สมการที่ตรงไปตรงมา หากมักประกอบด้วยปัญหาทางจิตใจที่ซ่อนอยู่ หรือที่เรียกว่าภาวะโรคร่วม” (Co-Occuring Disorders) การรักษาการเสพติดหรือปัญหาสุขภาพจิตอย่างยั่งยืน จึงต้องการความช่วยเหลือจากมืออาชีพ ที่มีความเข้าใจในภาวะโรคร่วม และสามารถให้การรักษาโรคร่วม (Dual Diagnosis Treatment) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาวะโรคร่วมคืออะไร

ภาวะโรคร่วม หมายถึงสถานการณ์ที่ผู้ป่วยมีทั้งปัญหาการเสพติดและปัญหาสุขภาพจิตพร้อมกัน โดยแต่ละปัญหาสามารถทำให้เกิดอีกปัญหาหนึ่งและเพิ่มความรุนแรงให้แก่กันได้ การรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาการเสพติด จึงต้องตระหนักถึงการแก้ปัญหาทางจิตใจที่ซ่อนอยู่ และในผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตใจ ก็ต้องไม่ละเลยปัญหาเรื่องการเสพติดที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน

ภาวะโรคร่วมเช่นนี้เป็นสิ่งที่พบได้มาก ในกลุ่มผู้ที่มีปัญหาการเสพติดและปัญหาทางสุขภาพจิต โดยในต่างประเทศ วารสาร Journal of the American Medical Association ของสหรัฐฯ รายงานว่าร้อยละ 29 ของผู้มีปัญหาสุขภาพจิต มีปัญหาการใช้แอลกอฮอล์หรือยาเสพติดด้วย โดยร้อยละ 37 ของผู้ที่ติดเหล้า และร้อยละ 53 ของผู้ติดยาเสพติด มีปัญหาเจ็บป่วยทางจิตใจที่รุนแรงอย่างน้อยหนึ่งอย่าง

ในประเทศไทย รายงานการศึกษาวิจัยในวารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี ..2557 ระบุว่า จากการสำรวจในประเทศไทยเมื่อปี ..2551 ในประชากรอายุ 15-59 ปี ก็พบว่า กลุ่มผู้ป่วยโรคผิดปกติทางอารมณ์มีปัญหาเรื่องการดื่มสุราร่วมด้วยร้อยละ 17.7 และจากการศึกษาวิจัยกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชนอก ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็พบว่าร้อยละ 86.2 มีประสบการณ์การใช้สารเสพติดอย่างใดอย่างหนึ่ง และยังคงใช้อยู่ในปัจจุบันเกือบครึ่งหนึ่ง

ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงความสัมพันธ์กันระหว่างปัญหาสุขภาพจิตและการใช้สารเสพติด การบำบัดรักษาที่มีประสิทธิภาพจึงต้องใช้การรักษาแบบครอบคลุมรอบด้าน

รู้ได้อย่างไรว่าใครมีภาวะโรคร่วม

สัญญาณของภาวะโรคร่วมส่วนใหญ่แล้วขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยทั่วไปแล้วอาการจะขึ้นอยู่กับประเภทของสารเสพติดที่ใช้ และปัญหาสุขภาพจิตที่ซ่อนอยู่ รวมถึงความรุนแรงของปัญหาทั้งสองอย่างนี้ ผู้ป่วยแต่ละคนต้องได้รับการประเมินแบบรายบุคคลโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อกำหนดว่ามีภาวะโรคร่วมในแบบใด

ดังนั้น การสังเกตสัญญาณของภาะโรคร่วม จึงเป็นการสังเกตอาการในสองส่วนร่วมกันนั่นก็คือ อาการของการเสพติด และอาการเจ็บป่วยทางจิตใจ โดยสำหรับอาการของการติดสารเสพติดนั้น แม้จะแตกต่างกันไปตามแต่สารเสพติดที่ใช้ แต่โดยทั่วไปแล้ว 

อาการต่อไปนี้อาจสามารถบ่งชี้ได้ถึงการเสพติด

  • การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมแบบกะทันหัน
  • ตีตัวออกห่างจากเพื่อนและครอบครัว
  • ขาดงาน ไม่ไปโรงเรียน หรือไม่สามารถรับผิดชอบการทำงานหรือการเรียนได้
  • มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ขับรถขณะมึนเมา
  • ไม่สามารถหยุดใช้สารเสพติดได้ แม้จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร่างกายหรือเกิดปัญหาความสัมพันธ์ส่วนตัว
  • มีอาการของการถอนพิษยา/ สุรา

เช่นเดียวกับอาการของความเจ็บป่วยทางจิตใจ แต่ละโรคล้วนแตกต่างกัน แต่สัญญาณเหล่านี้อาจบ่งชี้ได้ถึงอาการเจ็บป่วยทางจิตใจที่ซ่อนอยู่ ได้แก่

  • การนอนเปลี่ยนไป
  • มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องน้ำหนักและความอยากอาหาร
  • อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง
  • ความรู้สึกสิ้นหวัง หรือรู้สึกผิดและไร้ค่าอย่างรุนแรง
  • ไม่มีสมาธิ
  • มีความเครียดและความกังวลในระดับสูง
  • หัวใจเต้นเร็วหรือหายใจสั้นๆ
  • คลื่นไส้ ร่างกายสั่นเทา วิงเวียน
  • รู้สึกหงุดหงิดได้ง่าย
  • ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดศีรษะ
  • รู้สึกมีความสุขอย่างมาก หรือหงุดหงิดอย่างมาก
  • โกรธเกรี้ยวอย่างรุนแรง
  • การตัดสินใจผิดพลาดบกพร่อง และมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น
  • มีอาการไฮเปอร์คือการอยู่ไม่สุข ขาดสมาธิ ไขว้เขวง่าย

อาการที่กล่าวถึงนี้ยังไม่ครอบคลุม ทั้งอาการเสพติดและอาการของโรคทางจิตใจทั้งหมด  แต่หากอาการใดที่กล่าวถึงไปในเบื้องต้นนี้ ตรงกับการเปลี่ยนแปลงที่คุณพบได้ในตัวเองหรือคนที่คุณรัก ก็ควรต้องปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการประเมินและรับการรักษา

การใช้สารเสพติดและปัญหาสุขภาพจิต..อะไรเกิดก่อนกัน

การตอบคำถามว่า ปัญหาสุขภาพจิตนำไปสู่การเสพติด หรือการเสพติดทำให้เกิดปัญหาทางจิต ก็คงเหมือนการตอบคำถามว่า ไก่เกิดก่อนไข่หรือไข่เกิดก่อนไก่ เพราะทั้งปัญหาการเสพติดและปัญหาสุขภาพจิต เป็นสิ่งที่คาบเกี่ยวกันอย่างที่ไม่อาจจะแยกออกจากกันได้ง่ายนัก

การศึกษาชี้ว่าคนที่มีปัญหาอาการเจ็บป่วยทางจิต อาจพยายามที่จะใช้แอลกอฮอล์หรือยาเสพติด เพื่อเยียวยาอาการของตนเอง แต่ความพยายามในการรักษาตัวเองด้วยวิธีนี้สามารถทำให้ปัญหาทางจิตใจที่ต้องการจัดการนั้นเลวร้ายลงไปอีก และเป็นไปได้ว่าจะเปิดทางไปสู่อาการเจ็บป่วยทางจิตใจประเภทใหม่เพิ่มเข้ามาด้วย

สำหรับผู้ที่ยังไม่มีสัญญาณหรืออาการของปัญหาสุขภาพจิต การใช้สารเคมีก็สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเซลล์สมอง ทำให้เกิดการเจ็บป่วยทางจิตใจได้ เช่น คนที่ใช้สารกระตุ้นในปริมาณสูงๆ อาจเกิดอาการโรคซึมเศร้า จากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองที่เกิดมาจากยา ซึ่งอาจอยู่เป็นเวลาหลายเดือนหรืออาจจะเป็นปีๆ หลังจากหยุดใช้ยาแล้ว

การใช้สารเสพติดและโรคทางจิตใจจึงเป็นเสมือนวงจรอุบาทว์ ซึ่งองค์ประกอบหนึ่งนำไปสู่อีกองค์ประกอบหนึ่ง และในขณะเดียวกันก็เพิ่มความรุนแรงของอย่างแรกด้วย โดยที่ไม่อาจตอบได้ว่าอะไรมาก่อนกัน ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคร่วมทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

แล้วจะรักษาภาวะโรคร่วมได้อย่างไร

การเสพติดต้องการวิธีการบำบัดรักษาที่แตกต่างและหลากหลาย ทั้งการถอนพิษยา การบำบัดความคิดและพฤติกรรม และการเข้าร่วมกับกลุ่มบำบัด ขณะที่การรักษาโรคทางจิตใจ ก็อาจใช้ทั้งการให้คำปรึกษา (แบบเดี่ยวหรือแบบกลุ่ม) การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิต และการสนับสนุนจากเพื่อนและคนที่รัก ซึ่งในการรักษาภาวะโรคร่วมนั้น ต้องใช้วิธีการทั้งสองอย่างเพื่อรักษาทั้งภาวะเสพติดและปัญหาสุขภาพจิตในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์และได้ผลอย่างมาก หากใช้ทีมนักบำบัดและผู้เชี่ยวชาญทีมเดียวกัน

การรักษาความผิดปกติแต่ละอย่างยังต้องการอีกสองสิ่งเพิ่มเติมนั่นก็คือ เวลาและความทุ่มเท การสร้างรูปแบบวิธีคิด การเรียนรู้ที่จะจัดการกับความเครียด รวมถึงการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่ใช่งานเล็กๆ แต่เป็นเรื่องที่ท้าทายมากในการละทิ้งพฤติกรรมเดิมที่ทำซ้ำๆ มาเป็นเวลานาน

การรักษาภาวะโรคร่วมที่ เดอะดอว์น เชียงใหม่

ศูนย์บำบัดยาเสพติด เดอะดอว์น เชียงใหม่ มีพื้นที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าการบำบัด ไว้พักผ่อนขณะที่เข้าพักกับเรา

เดอะดอว์นมีทีมผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการรักษาโรคร่วม รวมถึงการดูแลแบบเฉพาะบุคคล และการดูแลช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอตลอด 24 ชั่วโมง และเรายังให้บริการในเรื่องต่อไปนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการฟื้นฟูทั้งทางจิตใจและร่างกายให้แก่ผู้เข้ารับการบำบัด นั่นก็คือ

  • สถานที่ฟื้นฟูแบบอยู่ประจำที่สะดวกสบาย สำหรับการบำบัดรักษาฟื้นฟูภาวะโรคร่วมอย่างไร้สิ่งรบกวน ทำให้คุณอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย เอื้อต่อการเยียวยา
  • วิธีการถอนพิษยาเสพติดที่มีประสิทธิภาพ และการติดตามกระบวนการถอนพิษยาอย่างเอาใจใส่ ระมัดระวัง เพื่อช่วยให้อาการของการถอนพิษยาอยู่ในระดับที่น้อยที่สุด
  • การบำบัดทางจิต รวมถึงการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy-CBT) เพื่อพัฒนารูปแบบการคิดของคุณ ช่วยคุณรับมือกับความเครียดและแรงกระตุ้นทันทีที่เกิดขึ้น
  • กลุ่มสนับสนุนและการให้คำปรึกษาส่วนบุคคล เพื่อเสริมแรงในแง่บวกให้แก่พฤติกรรม เพื่อให้พร้อมรับมือกับทั้งการเสพติดและปัญหาสุขภาพจิตที่อาจจู่โจมเข้ามาอีก

นอกจากนี้เรายังมีการดูแลหลังการบำบัดรักษาโดยทีมนักจิตวิทยาคลินิก ที่จะคอยติดตามความก้าวหน้าของการรักษากับคุณและจะช่วยเป็นแรงสนับสนุนให้คุณเดินไปบนเส้นทางของการฟื้นฟูได้อย่างต่อเนื่อง หากคุณสนใจในการเข้ารับการบำบัดที่ศูนย์บำบัด เดอะดอว์น เชียงใหม่ ติดต่อแผนกแรกรับของเราวันนี้ เพื่อรับข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนสู่การเข้ารับบำบัดที่ศูนย์ของเรา

ประกาศ

ณ ปัจจุบัน ศูนย์ของเรา ได้ยุติการให้บริการบำบัดภาคภาษาไทย

เดอะดอว์นขอขอบคุณทุกความไว้วางใจมา ณ ที่นี้

ให้เราช่วยคุณเริ่มต้นการเดินทางสู่สุขภาวะที่ดีตั้งแต่วันนี้

โทร: 083 204 8384