เรียนรู้ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาที่อาจนำคุณไปสู่ภาวะเสพติดและการมีปัญหาสุขภาพจิต

ถึงร้ายก็รัก-ความสัมพันธ์แบบพึ่งพา..รากเหง้าของปัญหาจิตใจที่อาจทำลายคุณและคนที่คุณรัก

เมื่อต้องการการยอมรับและความรักจากผู้อื่น ก้าวข้ามเส้นแบ่งของสัมพันธภาพแบบปกติสู่ “ความสัมพันธ์แบบพึ่งพา” มันจะทำลายความสัมพันธ์ของคุณ อาจส่งเสริมการเสพติดของคนที่คุณรัก และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตโดยที่คุณไม่รู้ตัว

การต้องการการยอมรับจากผู้อื่นเป็นเรื่องปกติของคนเรา แต่หากคุณหรือใครสักคนที่คุณรู้จัก ต้องการการยอมรับจากผู้อื่นเพื่อที่จะรู้สึกดีกับตัวเอง หรือเจ็บปวดแสนสาหัสเมื่อได้รับคำวิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งไม่อาจที่จะเดินออกมาจากความสัมพันธ์อันเลวร้าย ที่กำลังทำลายตัวเองได้ ความสัมพันธ์เช่นนี้คงไม่อาจเรียกได้ว่าความรักและไม่ใช่ความสัมพันธ์ปกติที่คุณควรจะเพิกเฉย

ความรักที่อยู่บนการพึ่งพาทางความรู้สึกต่อผู้อื่นในระดับที่ไม่ปกตินั้น เป็นปัญหาสุขภาพจิตอย่างหนึ่งที่เป็นรากเหง้าของปัญหาอันอาจนำไปสู่โรคทางจิตใจอื่นๆ รวมไปถึงอาจส่งเสริมให้การเสพติดที่เกิดขึ้นกับคนที่คุณรักให้เลวร้ายลงไปอีก โดยที่คุณอาจไม่รู้ตัว

ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาคืออะไรกันแน่

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาจำนวนมากอธิบายถึงความสัมพันธ์แบบพึ่งพาหรือ “Codependency” ไว้ว่า เป็นสัมพันธภาพที่ฝ่ายหนึ่งพึ่งพาอาศัยการยอมรับจากอีกฝ่ายหนึ่งในแบบเกินเลย ไม่ว่าจะในเรื่องตัวตนของตนเอง พฤติกรรม หรือการเลือกปฏิบัติใดๆ จะขึ้นอยู่กับผู้อื่นเป็นส่วนใหญ่ หรือเกือบทุกเรื่อง และโดยที่ไม่ว่าคนผู้นั้นจะมีปัญหาทางจิตใจ ขาดความรับผิดชอบ หรือมีพฤติกรรมเสพติดใดๆ ก็ตาม

พฤติกรรมการพึ่งพาอาจแสดงออกได้ในหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นสามีที่ช่วยเหลือการติดแอกอฮอล์ของภรรยา พ่อแม่ที่ปล่อยให้ลูกกระทำการเหลวไหลโดยไม่ห้ามปราม แฟนสาวที่โกหกเพื่อปกป้องแฟนหนุ่มที่ทำร้ายเธอ หรือแฟนหนุ่มที่ไม่ยอมอยู่ห่างคนรักแม้แต่เพียงครู่เดียว

การช่วยเหลือและสนับสนุนคนที่เรารักในการจัดการกับปัญหา ไม่ว่าจะดีหรือร้าย และไม่ว่าจะต้องเสียอะไรไปบ้างก็ตาม เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ที่มีพฤติกรรมการพึ่งพารู้สึกว่าได้รับการยอมรับ และเป็นที่ต้องการ คนเหล่านี้ตีความหมายว่านี่คือความรักที่ปราศจากเงื่อนไข แม้จะเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีความสุขหรือทำร้ายกันก็ตามที

สัญญาณที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์แบบพึ่งพา

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่อยู่ในความสัมพันธ์ที่ปกติจะรักและใส่ใจในคนรัก โดยไม่ผูกติดตัวเองกับการดูแลผู้อื่น หากคนที่รักแสดงพฤติกรรมในแง่ลบหรือเป็นอันตราย ก็จะช่วยเหลือแต่ไม่ให้ท้ายแบบผิดๆ ไม่ได้อยู่ได้ด้วยการยอมรับจากคนอื่น แต่สามารถรู้สึกดีได้เมื่ออยู่กับตัวเอง

แต่สำหรับผู้ซึ่งมีพฤติกรรมแบบพึ่งพานั้น มักมองว่าตัวเองเป็นคนที่ใจดีและเอาใจใส่ผู้อื่น โดยไม่รู้ตัวว่าพฤติกรรมของตนเองส่งผลกระทบในทางลบแก่ตนเองและคนที่อยู่รอบตัวอย่างไรบ้าง สัญญาณเหล่านี้อาจบ่งบอกว่า คุณหรือคนที่คุณรู้จักอาจก้าวข้ามจากความเอาใจใส่แบบปกติ สู่พฤติกรรมการพึ่งพาไปแล้วก็ได้ 

  • คุณเพิกเฉย อดทน หรือส่งเสริมพฤติกรรมซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับ
  • คุณรู้สึกโกรธเกรี้ยวมากกว่าเมื่อคนที่คุณรักถูกทำร้าย ยิ่งกว่าเมื่อตัวเองต้องเจอกับความไม่ยุติธรรมเสียอีก
  • คุณรู้สึกปลอดภัย มั่นใจ และสบายใจเมื่อเป็นผู้ให้ แต่ก็รู้สึกไม่มั่นใจและรู้สึกผิด เมื่อบางคนพยายามให้ตอบกลับมา
  • คุณยอมทำทุกอย่างเพื่อคนที่คุณรัก รวมถึงการละเลยความต้องการของตนเอง
  • คุณยังคงช่วยเหลือ แม้จะไม่ได้รับคำขอบคุณหรือถูกละเลย
  • คุณไม่อาจหยุดคิดหรือหยุดพูดถึงปัญหาของคนอื่นได้
  • คุณอยู่กับคู่รักที่ทำร้ายคุณ หรืออดทนต่อสัมพันธภาพที่ไม่มีความสุข
  • คุณไม่มีความสุขเวลาที่อยู่คนเดียว
  • คุณรู้สึกเบื่อหรือไม่มีคุณค่า เมื่อไม่มีปัญหาต้องให้แก้ หรือไม่มีคนที่จะดูแลเอาใจใส่
  • คุณยินดีที่จะมีสัมพันธภาพที่แย่ๆ ดีกว่าอยู่ป็นโสด

ความสัมพันธ์แบบพึ่งพา..ทำไมถึง “ร้าย” ก็ยัง “รัก”

ส่วนใหญ่แล้ว พฤติกรรมการพึ่งพาเช่นนี้มักมาจากการเติบโตมาในครอบครัวที่เด็กๆ ได้เห็นพ่อแม่ที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบพึ่งพา สอนให้เด็กๆ รู้สึกว่าพฤติกรรมการพึ่งพาเช่นนี้เป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่พึงกระทำในความสัมพันธ์ ฉะนั้น เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพา มีแนวโน้มจะสร้างความสัมพันธ์แบบเดียวกันนี้ในชีวิตของตนเองโดยที่ไม่รู้ตัวเลย

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเราอาจบ่มเพาะพฤติกรรมการพึ่งพาได้ ก็คือความทุกข์จากการถูกพ่อแม่ละทิ้ง เด็กๆ ต้องการความรักความเอาใจจากพ่อแม่ในการสร้างตัวตนหรือรูปแบบทางพฤติกรรม เมื่อไม่ได้รับในสิ่งที่ต้องการ เด็กๆ ก็จะเรียนรู้ว่าตัวเองไม่เป็นที่รัก หรือคนที่ตนรักนั้นพึ่งพาไม่ได้ พฤติกรรมการพึ่งพาอย่างเช่นการเอาใจคนอื่น หรือการแสวงหาการยอมรับ จึงกลายมาเป็นกลไกของการเอาตัวรอดของเด็กๆ ที่ถูกละทิ้ง ถูกทำร้าย หรือมีบาดแผลทางใจ

คนหลงตัวเอง “คู่กรรม” ของผู้มีพฤติกรรมแบบพึ่งพา

เป็นเหมือนโชคร้ายที่ผู้มีพฤติกรรมแบบพึ่งพาส่วนใหญ่ มักจะจับคู่กับคู่ครองที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ้ง (Borderline Personality Disorder) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder) ซึ่งมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นคนสำคัญหรือคนพิเศษ จึงมักจะหลงรักผู้ที่มีพฤติกรรมแบบพึ่งพา เพราะเป็นเป็นคนที่ใส่ใจ เชื่อฟัง และให้ความสำคัญกับคนที่หลงตัวเองเป็นอันดับหนึ่ง เหนือกว่าความต้องการของตนเองเสียอีก

ความผิดปกติทางบุคลิกภาพอื่นๆ ที่สังเกตเห็นได้บ่อยๆ ในความสัมพันธ์แบบพึ่งพากันก็คือ โรคสมาธิสั้น (ADHD) โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) และโรคไบโพลาร์

3 ระดับของพฤติกรรมแบบพึ่งพา

ผู้เชี่ยวชาญจัดลำดับของพฤติกรรมแบบพึ่งพา ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงขั้นที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตเอาไว้ 3 ระดับดังต่อไปนี้

  • ระดับต้น เริ่มมีการหมกมุ่นในใครบางคนในแบบที่ไม่ปกติ มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาเช่น การไม่ยอมรับความจริง การหาข้ออ้าง เลิกคบเพื่อน เลิกทำกิจกรรมต่างๆ ของตัวเองเพื่อใช้เวลาไปกับการดูแลใส่ใจผู้อื่น
  • ระดับกลาง เมื่อผู้ที่มีพฤติกรรมแบบพึ่งพาทุ่มเทในความสัมพันธ์มากขึ้น แต่ไม่ได้รับตอบแทนกลับมามากพอ จะเกิดความหงุดหงิด ผิดหวัง เสียใจ และอาจพยายามเปลี่ยนคนที่ตนเองรักด้วยการบ่น ตำหนิ และมีความเครียดเพิ่มมากขึ้น
  • ระดับสุดท้าย เริ่มส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต เกิดโรคจากความเครียดเช่น การนอนไม่หลับ อาการปวดหลังร้าวลงขา ปวดศีรษะ ปัญหาระบบย่อย และการกินผิดปกติ ความเคารพตัวเองตกต่ำถึงขีดสุด และการดูแลตัวเองไม่สำคัญอีกต่อไป ผู้ที่มีอาการในระดับนี้ต้องการความช่วยเหลือโดยด่วน

ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาที่บ่มเพาะการเสพติด

การเสพติดและความสัมพันธ์แบบพึ่งพามักจะมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ผู้ที่มีพฤติกรรมแบบพึ่งพาจะช่วยเหลือผู้เสพติดในการรับมือกับการทำงาน การเงิน และพฤติกรรมที่เป็นปัญหา และอาจมีส่วนร่วมในการใช้สารเสพติดได้ด้วย เป็นไปได้ว่าทั้งสองฝ่ายอาจมีพฤติกรรมแบบพึ่งพา แต่ปกติแล้วคนนึงจะเสพติด และอีกฝ่ายหนึ่งจะช่วยสนับสนุนการเสพติดนั้น

ในการรักษาผู้เสพติด คู่ครองในความสัมพันธ์แบบพึ่งพาหรือผู้ที่ให้การสนับสนุนพฤติกรรมการเสพติด จึงควรต้องเข้ารับการรักษาไปพร้อมๆ กัน โดยวิธีการรักษานั้นขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละคน ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างการยอมรับในปัญหาและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปสู่การช่วยเหลือและส่งเสริมกันในแบบที่ไม่เป็นอันตราย

การตัดวงจรอุบาทว์ของพฤติกรรมแบบพึ่งพา

พฤติกรรมแบบพึ่งพาเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการรักษาจากมืออาชีพ โดยนักจิตวิทยาจะช่วยให้คำปรึกษาคุณในการแยกแยะความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของตนเอง หรืออาจมีการใช้ยาร่วมด้วย หากคุณมีความผิดปกติทางจิตใจอย่างอื่นร่วมด้วย ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือบาดแผลทางใจจากวัยเด็ก 

ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยคุณในการปฏิเสธความสัมพันธภาพแบบพึ่งพา เรียนรู้วิธีการรับรู้พฤติกรรมบ่อนทำลายในคนที่คุณรัก และวิธีรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ส่งเสริมในทางที่ผิด เรียนรู้การเปลี่ยนโฟกัสจากคนอื่นมายังตัวเอง สร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ ปลูกฝังความเคารพตัวเอง และเรียนรู้วิธีการสร้างสัมพันธภาพที่เหมาะสม

ในท้ายที่สุด ความสุขของคุณจะไม่ขึ้นอยู่กับใครอื่นอีกนอกจากตัวเอง เมื่อคุณเอาชนะการพึ่งพาผู้อื่นได้แล้ว ความเคารพในตัวเองของคุณก็จะเพิ่มขึ้น และเข้มแข็งพอที่จะเดินจากสัมพันธภาพที่ไม่มีความสุข ทำให้เจ็บปวด หรือเป็นอันตราย

วิธีเอาชนะพฤติกรรมแบบพึ่งพาที่เดอะดอว์นช่วยคุณได้

ศูนย์บำบัดยาเสพติดและฟื้นฟูสุขภาพจิต เดอะดอว์น เชียงใหม่ ช่วยคุณแก้ไขต้นตอของปัญหาสุขภาพจิตที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ต้องยึดติดหรือขึ้นอยู่กับคนที่คุณรัก

โดยหลักแล้ว เดอะดอว์นรักษาการเสพติด ปัญหาทางสุขภาพจิตรวมถึงพฤติกรรมแบบพึ่งพาด้วยการเจาะลึกลงไปยังเหตุผลเบื้องหลังของพฤติกรรมแบบพึ่งพาของคุณ

โดยใช้การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy) รวมทั้งการบำบัดประเภทอื่นๆ โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์

เรายังมีการวินิจฉัยและการรักษาโรคร่วมซึ่งอาจเป็นต้นตอของปัญหา เช่น โรคซึมเศร้า วิตกกังวล และการเจ็บป่วยจากบาดแผลทางใจ ด้วยการบำบัดแบบต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและต้องรักษาไปพร้อมๆ กัน

หากคุณคิดว่าคุณ คนในครอบครัว หรือคนที่คุณรักมีพฤติกรรมแบบพึ่งพา และต้องการเข้ารับการรักษาเพื่อหยุดพฤติกรรมที่เป็นอันตรายเช่นนี้ ติดต่อแผนกแรกรับของเราวันนี้ เพื่อรับข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนสู่การเข้ารับบำบัดที่ศูนย์ของเรา

ประกาศ

ณ ปัจจุบัน ศูนย์ของเรา ได้ยุติการให้บริการบำบัดภาคภาษาไทย

เดอะดอว์นขอขอบคุณทุกความไว้วางใจมา ณ ที่นี้

ให้เราช่วยคุณเริ่มต้นการเดินทางสู่สุขภาวะที่ดีตั้งแต่วันนี้

โทร: 083 204 8384