เรียนรู้เบื้องลึกความผูกพันอันเจ็บปวดของชีวิตรักที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของคุณ

“ความผูกพันอันเจ็บปวด” พิษรักพิษร้ายที่อาจเกิดกับใครก็ได้และทำอย่างไรให้หลุดพ้น

หากคุณรู้สึกอ่อนล้า คับข้องใจ และซึมเศร้าเนื่องมาจากความรักของคุณ ก็อาจเป็นสัมพันธภาพที่เรียกว่า “ความผูกพันอันเจ็บปวด (Trauma Bonding)” ซึ่งจะค่อยๆ กลืนกินความเป็นตัวตนของคุณจนทำให้คุณรู้สึกสิ้นหวัง และไม่มั่นใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป การเรียนรู้ว่าความสัมพันธ์เช่นนี้พัฒนาขึ้นมาอย่างไร และวิธีไหนที่จะช่วยคุณได้ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะถอนพิษร้ายจากความรักอันเจ็บปวดนี้

หลายคนกล่าวว่าความรักเป็นสิ่งสวยงาม แต่ก็ไม่ใช่ทุกความสัมพันธ์ที่จะลงเอยด้วยดี หลายๆ ความสัมพันธ์อาจจบลงเพียงเพราะนิสัยใจคอของพวกคุณเข้ากันไม่ได้ และไม่สามารถทำให้คุณมีความสุขได้อีกต่อไป แต่สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกันก็คือ ถึงแม้คุณจะพบว่าอยู่กับความสัมพันธ์ที่ไม่ทำให้ตัวเองมีความสุข และบ่อยครั้งก็ทำร้ายจิตใจคุณ แต่คุณก็กลับยืนยันที่จะอยู่ตรงนั้นต่อไป โดยไม่สามารถที่จะเดินจากมาได้

คุณอาจเคยได้ยินคำว่า “รักเป็นพิษ (Toxic Relationship)” ที่มักใช้อธิบายความสัมพันธ์แย่ๆ ที่ทำให้คุณไร้ความสุข แต่อาจไม่คุ้นเคยเท่าไหร่กับแนวคิดที่เรียกว่า “ความผูกพันอันเจ็บปวด (Trauma Bonding)” ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ทำให้คุณไร้ความสุข แต่ยังสามารถบ่อนทำลายตัวตนของคุณ จนอาจพัฒนาเป็นปัญหาสุขภาพจิตได้ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความผูกพันอันเจ็บปวดจะช่วยแยกแยะว่า คุณกำลังอยู่ในความสัมพันธ์ประเภทนี้หรือเปล่า และเริ่มต้นหาวิธีที่จะพาตัวเองให้หลุดพ้นออกมาให้ได้

ความผูกพันอันเจ็บปวด..คืออะไรกันแน่

สาระสำคัญของความสัมพันธ์ที่เรียกได้ว่าเป็น “ความผูกพันอันเจ็บปวด” ก็คือ ความจงรักภักดีในความสัมพันธ์ต่อใครบางคนซึ่งเป็นภัยต่อตัวคุณเอง 

ความสัมพันธ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้หลังจากเกิดเหตุการณ์ชีวิตอันตึงเครียดหรือเกิดบาดแผลทางใจ (Trauma) อันเจ็บปวด แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกันในการคบหาแบบปกติทั่วไป ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่เข้มแข็งหรือมั่นใจในตัวเองแค่ไหน ก็อาจพบว่าตัวเองพ่ายแพ้ให้กับความผูกพันอันเจ็บปวดได้ทั้งสิ้น เนื่องมาจากลักษณะของการเกิดและพัฒนาการของความสัมพันธ์ประเภทนี้ รวมถึงการที่มันกระตุ้นบางส่วนในสมองของเรา หากความสัมพันธ์ของคุณมีลักษณะที่พบได้บ่อยๆ เหล่านี้ คุณก็กำลังอยู่กับความผูกพันอันเจ็บปวดอยู่ก็ได้

  • คู่รักของคุณผิดสัญญาเป็นประจำ
  • คุณทะเลาะกันด้วยเรื่องเดิมๆ ที่เป็นปัญหา แต่ไม่เคยแก้ไขได้เลย
  • คุณถูกโยนความผิดว่าเป็นต้นเหตุของทุกปัญหาของความสัมพันธ์ และต้องพบกับข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนพฤติกรรมหรือการกระทำของตัวเองอยู่เป็นประจำ
  • คุณพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไม่ดีของคู่ของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการที่เขาข่มเหงคุณ หรือพฤติกรรมการเสพติดของเขา แต่ก็ไร้ผล
  • คนรอบตัวคุณไม่พอใจกับการกระทำของคู่รักของคุณที่มีต่อคุณ แต่คุณไม่รู้สึกเช่นนั้น หรือไม่คุณก็แก้ต่างให้กับการกระทำเหล่านั้นของเขา
  • คุณไม่ไว้ใจคู่ของคุณ หรือไม่ได้ชอบเขาในแบบที่เขาเป็นจริงๆ แต่ก็ยอมติดแหง็กอยู่กับความสัมพันธ์นี้ หรือหากในที่สุดคุณสามารถเดินจากมาได้ คุณก็คิดถึงคนๆ นี้อย่างมาก หรือไม่ก็พบว่าตัวเองถูกดูดกลับเข้าไปในความสัมพันธ์รูปแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการกลับไปคบกับคนเก่าหรือ มีความสัมพันธ์ใหม่ที่เป็นรูปแบบเดิม

ความผูกพันอันเจ็บปวดนี้ ทำลายความมั่นใจและสำนึกในคุณค่าตัวตนของคุณอย่างรุนแรง และบ่อยครั้งก็ทำให้คุณไม่แน่ใจว่าควรรู้สึกอย่างไรกันแน่ หรือสิ่งที่คุณรับรู้นั้นเป็นจริงหรือไม่ นี่เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมจึงเป็นเรื่องยากที่จะพาตัวเองให้หลุดพ้นออกมาจากความผูกพันอันเจ็บปวด และทำไมจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่จะต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เพื่อช่วยเหลือคุณ

7 ระยะของความผูกพันอันเจ็บปวด

ความผูกพันอันเจ็บปวดก่อตัวและพัฒนาขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป ในแบบที่จะค่อยๆ เปลี่ยนมุมมองของคุณ และในที่สุดความผูกพันอันเจ็บปวดนี้ก็จะกลายเป็นเหมือนรูปแบบของการเสพติด ที่คุณอาจตระหนักว่าคนๆนี้เป็นพิษต่อคุณ แต่ก็ยากยิ่งที่จะปฎิเสธและตัดใจเดินจากมา

การทำความเข้าใจในแต่ละระยะที่ความผูกพันอันเจ็บปวดก่อตัวขึ้นและพัฒนาไปในแต่ละระดับ จะช่วยให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ความสัมพันธ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรและทำร้ายคุณในรูปแบบไหน

  • ระยะที่ 1 รักกันหวานชื่น

ในระยะแรกนี้ ความสัมพันธ์ของคุณนั้นช่างลึกซึ้ง หอมหวน และดูเป็นจริงเอามากๆ คู่ของคุณจะทุ่มเทความรักและความเสน่หาให้คุณด้วยทุกๆ วิธีที่เขาทำได้ ที่ทำให้คุณรู้สึกปลาบปลื้มในความรักของเขา จนอาจรู้สึกได้ว่าคนๆ นี้คือ “คู่แท้” ของคุณ

  • ระยะที่ 2 สร้างความไว้วางใจและการพึ่งพิง

ในระยะนี้ คู่ของคุณจะทำทุกอย่างเพื่อให้คุณรู้สึกไว้วางใจ คุณเริ่มรู้สึกว่าคุณพึ่งพิงเขาได้และเริ่มผูกติดกับเขาเพื่อความรักและการยอมรับ เพราะคู่ของคุณได้ให้สิ่งนี้อย่างเต็มที่ จนไม่รู้สึกว่ามีความเสี่ยงใดๆ แต่นี่ก็ทำให้เกิดระยะที่ 3 ตามมา

  • ระยะที่ 3 การตำหนิและเรียกร้อง

โดยทั่วไปการตำหนิจะเริ่มต้นขึ้นอย่างช้าๆ และอาจดูเหมือนเป็นเรื่องปกติของคนสองคนที่เริ่มต้นรู้จักกันและกันมากขึ้น แต่มันจะเริ่มลามไปในทุกๆ เรื่อง และคู่ของคุณจะเริ่มเรียกร้องมากยิ่งขึ้น ตามมาด้วยการยืนกรานให้คุณเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือนิสัยตามปกติของคุณ รวมไปถึงความสัมพันธ์ของคุณกับผู้อื่น

  • ระยะที่ 4 การบังคับจิตใจ

ในระยะนี้ คุณจะรู้สึกขาดความมั่นใจหรือรู้สึกสับสน เมื่อคู่รักของคุณโน้มน้าวว่าความรู้สึกหรือการรับรู้ของคุณนั้นไม่ถูกต้อง และปัญหาในความสัมพันธ์ทั้งหมดนั้นเป็นความผิดของคุณแต่เพียงผู้เดียว ทำให้คุณสงสัยในความคิดและการกระทำของตัวเองอย่างรุนแรง

  • ระยะที่ 5 การยอมจำนน

คุณเริ่มที่จะไม่สามารถใช้วิธีการของตัวเอง ในการแก้ปัญหาความสัมพันธ์ได้อีกต่อไป ทุกครั้งที่คุณพยายามจะแก้ปัญหา คู่ของคุณก็จะเอาแต่ตำหนิคุณอย่างหนักหน่วง จนทำให้คุณทั้งเจ็บปวดและอ่อนล้า จนตัดสินใจที่จะทำทุกอย่างในแบบที่เขาต้องการ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งและย้อนกลับไปสู่รักอันหวานชื่นระยะที่ 1 ให้ได้

  • ระยะที่ 6 สูญเสียตัวตน

ในระยะนี้ ครอบครัวและเพื่อนๆ ซึ่งอาจเคยแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคุณมาก่อน ตอนนี้จะเริ่มเป็นห่วงคุณหนักขึ้น คุณสูญเสียตัวตน ความมั่นใจ และทิศทางของตัวเอง และจะทำทุกอย่างเพียงเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้งกัน

  • ระยะที่ 7 การเสพติดทางอารมณ์

ในจุดนี้ คุณจะเจอกับความเครียดในระดับสูงอยู่แทบจะตลอดเวลา และโหยหาการผ่อนคลายหรือความสุข ทำให้เกิดวงจรของการพึ่งพาที่เหมือนการเสพติด นั่นก็คือคุณอาจมีสำนึกบางอย่างว่าความสัมพันธ์นี้เป็นพิษสำหรับคุณ แต่คุณก็ยังหาข้อแก้ตัวให้เขาอยู่ (เช่น คู่ของคุณมีปัญหาหรือบาดแผลทางใจในอดีต) หรือไม่สามารถที่จะไปจากเขาได้

ความผูกพันอันเจ็บปวดส่งผลต่อสมองของเราอย่างไร

การได้พบกับความรักและการยอมรับในระยะแรกๆ สร้างรูปแบบที่เรียกว่า “การเสริมแรงเป็นครั้งคราว (intermittent reinforcement)” ซึ่งการศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นว่า เมื่อสมองของเราได้รับรางวัลหรือการเสริมแรงเป็นครั้งคราว เราจะเริ่มแสวงหารางวัลเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าพฤติกรรมที่เปรียบเสมือนรางวัลนี้มันอาจจะไม่เกิดขึ้นอีกเลยก็ตาม

สิ่งที่เกิดขึ้นกับสมองเช่นนี้ เหมือนกับอาการที่นักจิตวิทยาเรียกว่า Stockholm Syndrome ซึ่งได้แก่การที่คนเราสร้างความผูกพันอย่างที่ไม่น่าเกิดขึ้นกับคนที่ทำร้ายเรา เช่นโจรหรือคนที่ลักพาตัวเรา เพื่อเป็นหนทางในการเอาตัวรอด และการพยายามเอาตัวรอดนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดความผูกพันอันเจ็บปวดเช่นกัน

คุณจะเป็นอิสระจากความผูกพันอันเจ็บปวดได้อย่างไร

การหลุดพ้นจากความผูกพันอันเจ็บปวดอาจเป็นเรื่องยากยิ่ง โดยเฉพาะในระยะแรกๆ เมื่อคู่ของคุณจะพยายามทำหรือพูดทุกอย่างที่คุณรู้สึกว่าคุณต้องการจากเขา เพื่อที่จะดึงคุณเอาไว้ในสัมพันธภาพนี้ แต่เมื่อคุณกลับไป รูปแบบเก่าๆ ก็จะเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง และคุณก็จะพบว่าตัวเองกลับไปอยู่ในจุดเดิมอีกแล้ว

และเนื่องจากความผูกพันอันเจ็บปวดทำให้คุณสงสัยทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเอง การจะจบความสัมพันธ์แบบนี้ด้วยตนเอง จึงไม่ใช่เรื่องง่าย การได้รับความช่วยเหลือที่เข้มแข็งจากผู้ที่ไม่เพียงแค่มุมมองของคุณ แต่ยังช่วยสร้างและเสริมแรงให้กับคุณ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดในการเรียกคืนความเข้มแข็ง ขับพิษร้ายทางอารมณ์ออกไป และจบความสัมพันธ์ที่บ่อนทำลายตัวเองเช่นนี้ให้ได้ในที่สุด

ความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญก็จะเป็นประโยชน์แก่คุณ ในการฝึกฝนมุมมองแบบที่ไม่เอาตัวเองเข้าไปจับกับสิ่งที่เกิดขึ้น สร้างความมั่นใจและสำนึกในตัวตนที่แท้จริงขึ้นมาใหม่ รวมถึงการเยียวยาตัวเองหลังหลุดพ้นจากความผูกพันอันเจ็บปวดนี้ ซึ่งนักจิตบำบัดจะสามารถให้เครื่องมือที่จะช่วยเหลือคุณได้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการนี้

เรียกคืนตัวตนของคุณอีกครั้งที่เดอะดอว์น เชียงใหม่

ศูนย์บำบัดยาเสพติด เดอะดอว์น เชียงใหม่ ช่วยคนที่คุณรักเลิกยาเสพติดและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อนำไปสู่เส้นทางการเลิกเสพติดอย่างยั่งยืน

ศูนย์สุขภาพจิต เดอะดอว์น เชียงใหม่ มีหลักสูตรการรักษาปัญหาสุขภาพจิต ที่เป็นผลลัพธ์จากการมีประสบการณ์ของความผูกพันอันเจ็บปวด โดยนักจิตบำบัดผู้เชี่ยวชาญของเราจะช่วยแยกแยะต้นตอของปัญหา และให้คำแนะนำวิธีการรับมือที่ดี เพื่อที่คุณจะได้ก้าวเท้าออกจากเดอะดอว์นไปพร้อมกับความมั่นใจและความเข้มแข็ง ที่จะคงอยู่ต่อไปกับคุณในระยะยาว

สภาพแวดล้อมอันปลอดภัย สงบสุข และปราศจากความเครียด ที่เดอะดอว์น จะช่วยเยียวยาจิตใจเพื่อให้คุณมีสมาธิ และสามารถโฟกัสกับการบำบัดรักษาอย่างเต็มที่

หากคุณสนใจเข้ารับการรักษาแบบอยู่ประจำที่ศูนย์สุขภาพจิต เดอะดอว์น ความช่วยเหลือจากทีมผู้เชี่ยวชาญของเราอยู่เพียงแค่เอื้อมมือ ยกหูโทรศัพท์หาเราเพื่อรับข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการเข้ารับการรักษา

ประกาศ

ณ ปัจจุบัน ศูนย์ของเรา ได้ยุติการให้บริการบำบัดภาคภาษาไทย

เดอะดอว์นขอขอบคุณทุกความไว้วางใจมา ณ ที่นี้

ให้เราช่วยคุณเริ่มต้นการเดินทางสู่สุขภาวะที่ดีตั้งแต่วันนี้

โทร: 083 204 8384