โรควิตกกังวลเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้บ่อย แต่ก็มักไม่ได้รับการรักษา ซึ่งอาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพได้ในระยะยาว และการแยกแยะอาการของโรควิตกกังวลให้ได้ ถือเป็นย่างก้าวแรกที่สำคัญสู่การรักษา ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคุณดีขึ้นได้
เป็นเวลากว่าปีแล้วที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอันกว้าง ไม่เพียงแต่จะทำให้วิถีชีวิตของแทบทุกคนเปลี่ยนแปลงไป แต่ยังกลายมาเป็นแหล่งของความเครียดและความวิตกกังวลที่รุมโจมตีจิตใจของเรา จึงไม่ค่อยน่าประหลาดใจนักที่การศึกษาวิจัยหลายชิ้นจะชี้ให้เห็นว่า การ “ล็อกดาวน์” และข้อกำหนดอันเข้มงวดต่างๆ อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากความเครียดที่สูงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในประเทศไทยเองก็เช่นกัน
โดยปกติแล้ว ความวิตกกังวลเป็นอาการที่คนทั่วไปรู้จักกันว่าคือความรู้สึกกระวนกระวาย วิตก หรือกลัว ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยเมื่อเกิดความเครียด และความวิตกกังวลอาจไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นความรู้สึก หากสามารถกลายเป็นโรคทางจิตเวชได้ และ “โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)” ก็เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้บ่อยที่สุดอย่างหนึ่งของโลก โดยการศึกษาชิ้นหนึ่งชี้ว่า โดยประมาณแล้วคน 1 ใน 13 มักมีอาการวิตกกังวลรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และโรคนี้ก็เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยในคนไทยสูงสุดเป็นอันดับ 3
นอกจากความเครียดที่เป็นตัวกระตุ้นอย่างหนึ่งแล้ว โรควิตกกังวลสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายประการประกอบรวมกัน ทั้งปัจจัยทางพันธุกรรม ประวัติครอบครัว สารเคมีในสมอง บุคลิกภาพ และประสบการณ์ชีวิต โรคนี้เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ หากก็น่าเสียดายว่าคนจำนวนมากที่เป็นโรคนี้มักไม่ได้รับการรักษา ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากขาดความรู้ ความเข้าใจในอาการ และผลกระทบในระยะยาวของโรควิตกกังวลที่ไม่ได้รับการรักษา การสามารถแยกแยะอาการของโรควิตกกังวลให้ได้ จึงเป็นย่างก้าวแรกที่สำคัญยิ่งในรู้ถึงความรุนแรงของอาการ และเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
ทำความรู้จักและเข้าใจอาการของโรควิตกกังวล
ในขณะที่พวกเราส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างคุ้นเคยกับอาการวิตกกังวลที่เกิดแบบกะทันหัน อย่างเช่น อาการมวนท้องก่อนการนำเสนองานโปรเจ็คใหญ่ในที่ทำงาน หรืออาการเหงื่อแตกหรือตัวสั่นเมื่อต้องทำบางสิ่งบางอย่างที่เกินการควบคุม คุณอาจจะตั้งคำถามว่าอาการความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ได้พัฒนาจนกลายมาเป็น “โรควิตกกังวล” หรือยัง โดยอาการเหล่านี้อาจแสดงออกมาทั้งทางร่างกายและจิตใจที่เราอาจไม่รู้ตัว และนี่คือ 12 อาการของโรควิตกกังวลที่พบได้บ่อย แต่เราอาจคาดไม่ถึง
1 อาการหนาวสั่น
นี่เป็นอาการที่หลายคนอาจไม่ตระหนัก แต่ถือเป็นอาการตอบสนองต่อความวิตกกังวลที่พบได้มาก นั่นก็คืออาการหนาวสั่น — ความรู้สึกเย็นเยียบที่วิ่งจากศีรษะจรดปลายเท้า เมื่อสัญชาตญาณ “สู้หรือหนี” ที่เป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติของคนเราถูกกระตุ้นขึ้นมา ส่งผลให้เหงื่อออกท่วมกาย และทำให้รู้สึกหนาวสั่นจนรู้สึกไม่สบายตัว
2 คลื่นไส้หรือมีปัญหาระบบย่อยอาหาร
สมองของเราเชื่อมต่อกับระบบย่อยอาหารของเราผ่านทางสารสื่อประสาท ซึ่งหมายความว่า หากเรารู้สึกเครียด เราก็จะสามารถรู้สึกถึงปัญหาในระบบย่อยอาหารของเราได้ด้วย ดังนั้น หากคุณมีปัญหาที่อธิบายไม่ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดเกร็งท้อง มีแก๊สในกระเพาะอาหาร คลื่นไส้หรืออาเจียน อาการวิตกกังวลก็อาจเป็นปัจจัยก็ได้
3 ไม่มีสมาธิ
การไม่มีสมาธิอาจมาในรูปแบบของความคิดที่ไม่หยุดนิ่ง คุณอาจรู้สึกว่าตัวเองวอกแวกได้ง่ายจากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว และไม่สามารถที่จะจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ เหตุผลหลักอย่างหนึ่งก็คือสัญชาตญาณ “สู้หรือหนี” (fight or flight) ของร่างกายที่ถูกกระตุ้นขึ้นมาจากความวิตกกังวล ทำให้เราตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา จนทำให้ยากที่สมองของเราจะสงบและมีสมาธิ
4 ปัญหาผิวหนัง
การตอบสนองต่อความเครียดของเราเกี่ยวพันกับฮอร์โมนของเราด้วย ซึ่งสามารถกระตุ้นต่อมไขมันในผิวหนังและรากขน สามารถทำให้เกิดอาการต่างๆ กับผิวหนัง ไม่ว่าเกิดสิวเห่อขึ้นมา หรือทำให้โรคผิวหนังอย่างผิวหนังอักเสบหรือโรคสะเก็ดเงินกำเริบขึ้นมาได้ หากคุณพบว่าผิวของคุณกำลังทำงานผิดปกติ นี่อาจเนื่องมาจากอาการวิตกกังวลที่ซ่อนอยู่ก็ได้
5 อาการใจสั่น
คุณรู้สึกถึงหัวใจที่เต้นแรงเร็วและดูเหมือนจะไม่ปกติ หรือคุณอาจรู้สึกว่าอาการเต้นของหัวใจแปลกไปในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ถึงแม้อาการเหล่านี้ควรให้แพทย์ตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนของอาการ แต่มันก็อาจเกิดขึ้นจากอาการวิตกกังวลได้เช่นกัน
6 อาการที่อยากเอาอกเอาใจคนอื่นแบบผิดปกติ
ไม่ว่าคุณจะยุ่ง เครียด หรือเหนื่อยล้าเพียงใด คุณก็ยังพยายามที่จะทำตามทุกคำขอร้องของคนอื่นอยู่นั่นเอง ถึงแม้ว่าโดยปกติแล้ว คนเราอาจรู้สึกกดดันที่จะต้องทำตามคำขอของบางคนในบางเรื่องหรือบางขณะ แต่หากสิ่งนี้กลายมาเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตที่คุณต้องพยายามทำอยู่เสมอ ไม่ว่าตนเองจะอยู่ในสภาวะใดก็ตาม มันก็อาจเชื่อมโยงกับอาการวิตกกังวลที่ซ่อนอยู่ในตัวเราก็เป็นได้
7 การผัดวันประกันพรุ่ง
อาการวิตกกังวลที่ค่อยๆ เผาผลาญเราอย่างช้าๆ สามารถส่งผลให้เกิดการผัดผ่อนที่จะทำสิ่งต่างๆ เพื่อพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้คุณเครียด หากคุณสังเกตเห็นว่ามีงานหรือภาระบางอย่างที่คุณมักผลักออกไปอย่างต่อเนื่อง ลองพิจารณาดูว่าอาการวิตกกังวลอาจเป็นสาเหตุหรือไม่
8 ปัญหากับการนอน
ส่วนใหญ่แล้ว คนที่มีอาการวิตกกังวลมักมีความคิดที่ไม่หยุดนิ่งตลอดเวลาเมื่อล้มตัวลงนอน ที่ทำให้นอนหลับได้ยาก ไม่ว่าคุณจะพลิกซ้ายพลิกขวาตลอดคืน หรือไม่อาจพาตัวเองเข้านอนเพื่อที่จะตื่นมาเผชิญหน้ากับวันต่อไปได้ ก็ควรพิจารณาความจริงที่ว่า ปัญหาการนอนหลับหลายอย่างนั้นอาจเชื่อมโยงกับความวิตกกังวลได้
9 การยึดโยงกับความสมบูรณ์แบบ
การภาคภูมิใจในการทำงานของตัวเองเป็นเรื่องหนึ่ง แต่จะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปในทันที หากคุณพยายามที่จะกำจัดความบกพร่องทุกอย่างออกไป และเป็นกังวลกว่าคนอื่นจะมองสิ่งที่คุณทำอย่างไร ถึงแม้คนเหล่านั้นจะให้การสนับสนุนหรือเข้าใจคุณทุกอย่างก็ตาม ความรู้สึกเหล่านี้อาจมาจากความวิตกกังวลก็เป็นได้
10 ต้องการควบคุม
คุณรู้สึกห้ามใจตัวเองไม่ได้ที่จะควบคุมสภาพแวดล้อมของตัวเอง และบางทีรวมไปถึงคนที่อยู่รอบตัวคุณด้วย และรู้สึกไม่สบายใจอยู่ลึกๆ เมื่อไม่สามารถที่จะทำเช่นนั้นได้ นี่อาจทำให้คุณเหนื่อยล้า และก็ทำร้ายความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับคนอื่นด้วย บ่อยครั้งที่ความรู้สึกเช่นนี้เป็นการรับมือกับความกระวนกระวายและความเครียด ที่มีรากเหง้ามาจากความวิตกกังวล
11 ความละอายในตนเองที่ไม่จบสิ้น
ความละอายในตนเองที่ไม่จบสิ้นนี้พาคุณเดินไปบนเส้นทางอันน่าหดหู่ ของการสงสัยในตนเอง วิพากษ์วิจารณ์ และเกลียดตัวเอง ซึ่งอาจมาจากเรื่องเล็กๆ อย่างเช่นการคุยกับเพื่อน ข้อความแชทจากคนที่รัก แต่กลับทำให้คุณคิดวนเวียนไปมาไม่จบสิ้น และรู้สึกว่าตนเองน่ารังเกียจหรือไม่เป็นที่รัก ความละอายในตนเองอันไม่สิ้นสุดนี้มักเชื่อมโยงกับความรู้สึกวิตกกังวลในทางสังคม
12 รู้สึกหงุดหงิด
ความหงุดหงิดก็เป็นอีกสิ่งที่เชื่อมโยงกับสัญชาตญาณ “สู้หรือหนี” (fight or flight) เนื่องมาจากความวิตกกังวลที่ซ่อนอยู่ทำให้เราต้อง “สู้” (fight) อย่างต่อเนื่อง จนทำให้เรารำคาญหรือโกรธในสิ่งที่ปกติเราอาจจะไม่โกรธ หากคุณอารมณ์เสียได้ง่ายๆ หรือรู้สึกหงุดหงิดบ่อยๆ นี่อาจเชื่อมโยงกับอาการวิตกกังวลได้
คุณจะจัดการอย่างไรได้บ้างกับอาการวิตกกังวล
หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา อาการวิตกกังวลสามารถส่งผลกระทบในระยะยาวกับกับการดำเนินชีวิตประจำวันของเราได้ รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยาว ไม่ว่าจะเป็นการเกิดโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง ส่งผลทำให้น้ำหนักขึ้น และภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งทุกอย่างล้วนเป็นปัญหาสุขภาพที่ควรต้องใส่ใจและดูแล
ดังนั้น หากคุณคิดว่าคุณอาจกำลังเป็นโรควิตกกังวล วิธีการรับมือที่ง่ายและได้ผลดีที่สุดก็คือ การขอความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตจากผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรควิตกกังวล ซึ่งจะช่วยกำหนดวิธีการรักษาที่เหมาะสม และแผนรักษาที่เหมาะสมจะได้ผลดีเป็นอย่างมากสำหรับผู้ที่เป็นโรควิตกกังวล สามารถทำให้คุณมีสุขภาพโดยรวมดีขึ้น และลดความเครียดที่คุณสัมผัสได้ในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน
รักษาโรควิตกกังวล ที่เดอะดอว์น เชียงใหม่
ศูนย์สุขภาพจิตเอกชน เดอะดอว์น มีหลักสูตรฟื้นฟูสุขภาพจิตที่ออกแบบมา เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาโรควิตกกังวลได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงต้นตอและที่มาของอาการที่ตนกำลังเผชิญอยู่ และเรียนรู้ทักษะในการจัดการกับอาการเหล่านั้น โดยแผนการรักษาของเรา ผสมผสานระหว่างเทคนิคจิตบำบัดแบบสมัยใหม่ ควบคู่กับการดูแลสุขภาวะที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการจัดการความวิตกกังวล
ศูนย์เดอะดอว์นตั้งอยู่ติดแม่น้ำปิง เมื่อคุณเข้ารักษากับเราแล้วคุณจะได้อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่สงบสุข ผ่อนคลาย ปลอดภัย และปราศจากความเครียด เพื่อพร้อมที่จะเปิดรับการรักษาและเยียวยาฟื้นฟูจิตใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หากคุณต้องการเข้ารับการรักษาแบบอยู่ประจำที่ ศูนย์สุขภาพจิตของเรา โทรหาเราวันนี้ เพื่อรับข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการเข้ารับการรักษา เพื่อกลับมามีชีวิตที่ปกติสุขอีกครั้งหนึ่ง