เช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ภาพจำของโรคย้ำคิดย้ำทำที่คนทั่วไปมอง มักจะลดทอนความร้ายแรงของโรค ให้กลายเป็นนิสัยเพี้ยนๆ หรือแปลกประหลาดที่ดูน่าขัน ทั้งที่ความจริงแล้วโรคย้ำคิดย้ำทำร้ายแรงกว่านั้น และหากปล่อยไว้โดยไม่รักษา ก็สามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ได้อย่างมากมาย
คุณอาจเคยได้ยินมาบ้างเกี่ยวกับ โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder หรือ OCD) แต่คุณรู้จักกันจริงๆ หรือเปล่าว่า โรคนี้เป็นอย่างไร ซึ่งหากเราเชื่อภาพของโรคย้ำคิดย้ำที่ได้เห็นผ่านสื่อต่างๆ เราอาจคิดว่ามันเป็นเพียงนิสัยประหลาดๆ หรือเป็นความเพี้ยนที่ดูน่าขำ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการทำให้ทุกอย่างรอบตัวดู “เป๊ะ” ที่สุดอยู่เสมอ ความรักสะอาดอย่างหนัก ต้องเช็ดทำความสะอาดทุกจุดอยู่ซ้ำๆ หรือชอบล้างมือบ่อยๆ แต่ในขณะที่โรคย้ำคิดย้ำทำดูเหมือนจะเป็นเพียงนิสัยประหลาดๆ ที่ดูน่าขำในสายตาของสังคมทั่วไป ความเป็นจริงและผลกระทบของโรคนี้กลับเป็นสิ่งที่น้อยคนนักจะเข้าใจ
ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (Personality disorders) เป็นโรคที่ทำให้เกิดผลกระทบในแง่ลบที่รุนแรงต่อชีวิตประจำวัน สัมพันธภาพกับผู้อื่น และความปรารถนาที่จะทำสิ่งต่างๆ ของคนเรา โรคย้ำคิดย้ำทำก็ไม่แตกต่างกัน ด้วยพฤติกรรมแบบซ้ำๆ ซากๆ และหยุดไม่ได้ซึ่งครอบงำกิจวัตรประจำวัน ส่งผลให้ผู้ที่เป็นโรคนี้เต็มไปด้วยความรู้สึกอึดอัดขับข้องใจ โดดเดี่ยว และละอาย
ในการทำความเข้าใจกับอาการอันซับซ้อนของโรคนี้ สิ่งที่ต้องเน้นย้ำอย่างหนักแน่นก็คือ โรคย้ำคิดย้ำทำไม่ใช่เรื่องตลก และการรักษาสามารถช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคนี้สามารถควบคุมชีวิตตนเองให้กลับมาปกติสุขได้อีกครั้ง
โรคย้ำคิดย้ำทำคืออะไร
โรคย้ำคิดย้ำทำเป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ที่ทำให้เกิดความคิดหรือแรงกระตุ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่จะกระทำอะไรบางอย่าง ทั้งที่ไม่ได้อยากทำอย่างนั้น ผู้ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำจะพบว่าความคิดที่รุกล้ำเข้าไปอยู่ในหัวหรือการกระทำที่ห้ามไม่ได้นั้น เป็นสิ่งที่รบกวน ทำให้ตัวเองรู้สึกอ่อนล้า และเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะปล่อยวาง แม้จะใช้ความพยายามและการตั้งสติแค่ไหนก็ตาม
ถึงแม้จะไม่มีการจัดประเภทย่อยๆ ของโรคย้ำคิดย้ำทำอย่างเป็นทางการ แต่จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าโรคย้ำคิดย้ำทำมักจะแสดงออกมาใน 4 ลักษณะ คือ
- ความหมกมุ่นกับระเบียบแบบแผน และความสมดุล
- ความหมกมุ่นกับความสะอาดและกลัวเชื้อโรค หรือสิ่งปนเปื้อน
- การเก็บสะสมสิ่งของที่เชื่อมโยงกับความหมกมุ่น หรือการกระทำที่ห้ามตัวเองไม่ได้
- ความคิดหรือแรงกระตุ้นในเรื่องต้องห้าม ที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ หรือเป็นอันตราย
ในขณะที่สาเหตุของโรคย้ำคิดย้ำทำยังไม่เป็นที่เข้าใจกันอย่างชัดเจน แต่งานวิจัยก็พบว่าปัจจัยทางชีวภาพหรือปัจจัยทางร่างกาย รวมถึงสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเกิดอาการนี้ โดยการศึกษาชี้ว่าโรคย้ำคิดย้ำทำเชื่อมโยงกับปัญหาของระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับที่ผิดปกติของสารสื่อประสาทเซโรโทนินซึ่งทำหน้าที่ในการรักษาระดับอารมณ์ให้คงที่
อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นอย่างไรได้บ้าง
โรคย้ำคิดย้ำทำทั้งสี่ประเภทมีลักษณะอาการที่แตกต่างกัน โดยอาการทั้งหมดเป็นอาการเรื้อรังและสร้างความหงุดหงิดใจ มักเกิดขึ้นอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงในแต่ละวัน และส่งผลกระทบในแง่ลบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของผู้ป่วย ซึ่งถ้าปล่อยไว้ไม่รักษา อาการก็สามารถรุมเร้าจนร่างกายอ่อนแอได้
อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำอาจแตกต่างกันไปได้ในแต่ละบุคคล และบางคนที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำอาจมีอาการหมกมุ่นหรือห้ามตัวเองไม่ได้มากกว่าหนึ่งประเภท และต่อไปนี้คืออาการของโรคย้ำคิดย้ำทำในแต่ละประเภทที่พบได้บ่อย
1. อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำที่เกี่ยวกับความมีระเบียบแบบแผน และความสมดุล
- ต้องการให้สิ่งต่างๆ จัดระเบียบหรือแบ่งหมวดหมู่อย่าง “ถูกต้อง” เสมอ
- ต้องการให้การกระทำมีความสมดุลกัน เช่น ถ้าคุณหยิบถ้วยขึ้นมาด้วยมือขวา จากนั้น คุณจะรู้สึกอยากหยิบมันขึ้นมาด้วยมือซ้ายด้วยเช่นกัน
- การนับสิ่งต่างๆ หรือการกระทำ เช่น การก้าวเดิน และจำเป็นต้องเริ่มต้นนับใหม่ ถ้าคุณนับพลาดไป
- ความกลัวแบบไม่มีเหตุผลว่าจะมีสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้น หากสิ่งต่างๆ วางผิดที่ผิดทางหรือมีจำนวนไม่ถูกต้อง
- มีวิธีการที่ตายตัวในการจัดระเบียบสิ่งต่างๆ ตัวอย่างเช่นจะต้องเริ่มต้นจากที่หนึ่งหรือด้วยการกระทำอย่างหนึ่งเสมอ
2. อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำเกี่ยวกับความสะอาด และความกลัวเชื้อโรคหรือสิ่งปนเปื้อน
- กลัวอย่างมากและตลอดเวลาต่อเชื้อโรคและการติดเชื้อ
- ความรู้สึกที่ห้ามไม่ได้ที่อยากจะล้าง หรือโยนของที่เชื่อว่าสกปรกทิ้งไป
- ไม่ใช้สิ่งของ หรือทำสิ่งที่คุณเชื่อว่าอาจทำให้คุณป่วย
- คิดซ้ำซากเกี่ยวกับความสกปรก หรือการเจอกับเชื้อโรค
- ล้างมือ หรืออาบน้ำบ่อยเกินไป
- มีวิธีการเฉพาะตัวเกี่ยวกับการซักล้าง การทำความสะอาด หรือการอาบน้ำ
3. อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำเกี่ยวกับการเก็บสะสมสิ่งของ
- ซื้อของที่คุณไม่ได้ต้องการแบบเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำอีก
- รู้สึกว่าการมีของบางอย่างในจำนวนที่เฉพาะเจาะจงจะช่วยปกป้องคุณจากอันตราย
- ความวิตกกังวลอย่างต่อเนื่องว่า คุณจะบังเอิญโยนของบางอย่างที่คุณอาจต้องการในภายหลังทิ้งไป
- ความรู้สึกไม่สบายใจ หรือมีอะไรบางอย่างขาดหายไป หากคุณทำของบางอย่างหายหรือโยนของบางอย่างทิ้งไป ถึงแม้จะไม่ใช่ของจำเป็นเลยก็ตาม
- ไม่สามารถที่จะทิ้งของบางอย่าง เพราะการสัมผัสของเหล่านั้นอาจทำให้คุณติดเชื้อ
- ตรวจสอบสิ่งของต่างๆ ของตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างห้ามตัวเองไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า จานชามและอื่นๆ
- ไม่ต้องการเก็บของต่างๆ แต่รู้สึกว่าคุณต้องเก็บ
4. อาการโรคย้ำคิดย้ำทำที่เกี่ยวกับความคิดที่ไม่พึงประสงค์
- ความคิดหรือภาพที่รบกวนจิตใจที่อาจเกี่ยวกับความรุนแรง เซ็กซ์ ศาสนา ความเจ็บป่วย หรือความตาย และบ่อยครั้งมักเกิดขึ้นพร้อมความวิตกกังวลอย่างหนัก
- มีวิธีการส่วนตัวที่ต้องทำเพื่อระงับหรือทำให้ความคิดเหล่านี้สงบลง
- ความต้องการที่จะสารภาพสิ่งที่ตัวเองคิดออกมา หรือหาความมั่นใจจากคนอื่นว่าความคิดของคุณนั้นไม่เป็นเรื่องจริง และไม่ได้มีการกระทำให้เกิดขึ้นมาจริง
- ความวิตกกังวลอย่างต่อเนื่องว่าคุณจะกลายเป็นคนเลว อาจทำร้ายคนบางคนด้วยวิธีการบางอย่าง หรือจะตกเป็นเหยื่อของอันตรายหรือความเจ็บป่วย
- ตั้งคำถามในเรื่องรสนิยมทางเพศของตัวเอง หรือความโน้มเอียงทางเพศของตัวเอง
- ความผิดอยู่ลึกๆ ความละอาย และความเครียดเกี่ยวกับความคิดเหล่านี้
มุมมองจากประสบการณ์ของผู้ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ
โรคย้ำคิดย้ำทำเป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่คนดังจำนวนไม่น้อยต้องทุกข์ทรมานกับมัน อย่างเช่นนักฟุตบอลคนดัง เดวิด เบ็คแฮม ที่เคยทุกข์ทรมานกับโรคย้ำคิดย้ำทำ โดยเฉพาะเมื่อเขาตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียด เขาจะรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย และเขาก็ไม่สามารถสลัดความคิดแบบนี้ออกไปไม่ได้จนกว่าทุกอย่างจะสมบูรณ์แบบ โดยเขาเคยเล่าว่า “เวลาผมไปพักที่โรงแรมไหน ผมต้องย้ายใบปลิวและนิตยสารทุกเล่มไปจัดเรียงให้เป็นระเบียบบนชั้นวาง ทุกๆ อย่างจะต้องเพอร์เฟ็คท์ คุณนึกภาพตามได้เลยว่ามันกดดันคนรอบตัวผมขนาดไหน”
และอีกคนหนึ่งที่เคยเปิดเผยเกี่ยวกับโรคนี้อย่างตรงไปตรงมาก็คือ ฮาร์วีย์ แมนเดล นักแสดงและกรรมการตัดสินรายการดังอย่าง America’s Got Talent ที่เขียนเล่าถึงการใช้ชีวิตอยู่กับโรคย้ำคิดยำทำ และโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder หรือ ADHD) ของตนเองเอาไว้ในอัตชีวประวัติของเขาเรื่อง Here’s the Deal: Don’t Touch Me ฮาร์วีย์ได้เล่าถึงความคิดหมกมุ่นที่เกิดมาจากโรคย้ำคิดย้ำทำของเขาว่า
“ความคิดที่เข้ามาในหัวของผม ทั้งที่ดี ไม่ดี หรือไม่มีสาระ ไม่ได้แตกต่างไปจากคนอื่น ปัญหาก็คือมันจะติดแน่นอยู่ในหัว และต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แบบไม่มีที่สิ้นสุด โดยที่ผมห้ามไม่ได้ ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดก็คือ ผมจะคิดว่าตัวเองไม่ได้ล็อกประตู ผมก็จะกลับไปแล้วก็ตรวจดูประตูเหมือนคนอื่น แต่ผมก็ยังคิดอยู่อีกนั่นแหละว่าตัวเองไม่ได้ล็อกประตู ผมก็เลยกลับไปดูประตูอีกครั้ง แล้วก็ยังคิดอีกว่าตัวเองไม่ได้ล็อกประตู ซึ่งผมสามารถคิดกลับไปกลับมาแบบนี้ได้สัก 30 ครั้ง ทั้งที่ความจริงผมก็รู้ว่าผมเช็คประตูมา 29 รอบแล้ว แต่ผมก็ไม่สามารถหยุดตัวเองให้กลับไปตรวจดูประตูซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้”
สำหรับฮาร์วีย์แล้ว การใช้ชีวิตอยู่กับโรคย้ำคิดย้ำทำทำให้เขาพบว่า ในการรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำนั้น ทักษะการจัดการและการรับมือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก และย้ำว่ามีตัวเลือกมากมายในการช่วยผู้ที่มีปัญหากับโรคย้ำคิดย้ำทำ
ทางเลือกการรักษาสำหรับโรคย้ำคิดย้ำทำ
ไม่มีวิธีการเพียงอย่างเดียวที่เหมาะในการรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ แต่การพบกับมืออาชีพทางด้านสุขภาพจิตซึ่งคุ้นเคยกับทางเลือกต่างๆ ที่มีอยู่ เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญในการรับความช่วยเหลือ
การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioural therapy หรือ CBT) เป็นเครื่องมือประเภทหนึ่งที่มักใช้ในการจัดการกับโรคย้ำคิดย้ำทำ การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมจะเป็นการแยกแยะ สำรวจ และปรับเปลี่ยนรูปแบบความคิดที่ฝังแน่น เพื่อช่วยบรรเทาการคิดหมกมุ่นวนไปวนมา
และเนื่องจากความเครียดสามารถเป็นตัวกระตุ้นให้โรคย้ำคิดย้ำทำรุนแรงขึ้น เทคนิคการผ่อนคลายความเครียด เช่น การฝึกโยคะ การทำสมาธิ และการออกกำลังกายเป็นประจำ อาจช่วยในการจัดการกับโรคย้ำคิดย้ำทำได้ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่อย่างเช่น การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Transcranial Magnetic Stimulation หรือ TMS) ที่สามารถช่วยกระตุ้นเซลล์ประสาทให้รู้สึกผ่อนคลายลงก็มีประสิทธิภาพในการลดอาการได้เช่นกัน
นักจิตบำบัดที่คุณวางใจสามารถช่วยคุณในการฝึกทักษะในการจัดการกับโรคย้ำคิดย้ำทำ พัฒนากลไกในการรับมือต่างๆ และวางกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อรับมือเมื่อมีสิ่งท้าทายเกิดขึ้นมาได้
รู้จักกับทางเลือกในการรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำที่เดอะดอว์น
ศูนย์สุขภาพจิต เอกชน เดอะดอว์น มีหลักสูตรการรักษาสุขภาพจิตเฉพาะสำหรับโรคย้ำคิดย้ำทำ เรามีโปรแกรมรักษาแบบอยู่ประจำที่ออกแบบมาเพื่อช่วยผู้รับการรักษาให้มีความเข้าใจยิ่งขึ้นเกี่ยวกับอาการของตัวเอง และเรียนรู้ทักษะในการรับมือกับอาการของตัวเอง ภายใต้บรรยากาศผ่อนคลายสไตล์รีสอร์ท นอกจากนี้เราจะร่วมกับผู้ป่วยแต่ละคนพัฒนาแผนการรักษาที่มีความเฉพาะตัวที่สุด เพื่อรับมือกับปัญหาของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน และทำให้ได้รับผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เดอะดอว์น มีทีมผู้เชี่ยวชาญที่ชำนาญในการรักษาโรคทางสุขภาพจิตต่างๆ โดยนำเอาทั้งเทคนิคจิตบำบัดแบบใหม่ มาใช้ควบคู่กับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี รวมถึงการใช้เทคโนโลยีทันสมัย (TMS) ซึ่งเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่ตอบสนองด้วยการทานยา
หากคุณหรือคนที่คุณรักสนใจเข้ารับการรักษาแบบอยู่ประจำ โทรหาเราวันนี้ เพื่อรับฟังว่า เราจะสามารถช่วยคุณจัดการกับโรคย้ำคิดย้ำทำได้อย่างไร ให้เราช่วยคุณฟื้นฟูตัวเองและกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเต็มอิ่มอีกครั้ง