หญิงวัยทำงานกำลังประสบปัญหาสุขภาพจิต ภาวะเครียดและวิตกกังวล

วิธีการจัดการกับโรควิตกกังวลที่กำลังทำร้ายเราหรือคนที่เรารัก

เราทุกคนล้วนแล้วเคยมีความรู้สึกวิตกกังวล บ่อยครั้งความรู้สึกนี้สร้างประโยชน์ให้กับเรา เพื่อให้เราได้เตรียมการรับมือกับเรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม หากความวิตกกังวลมีความรุนแรง หรือกินระยะเวลานานจนเกินไป หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี สามารถพัฒนาเป็นโรควิตกกังวลได้

อาการวิตกกังวล เป็นอย่างไร

ในประเทศไทยมีประชากรกว่า 1.4 แสนคน กำลังประสบปัญหาของโรควิตกกังวล ตามรายงานของกรมสุขภาพจิต อาการวิตกกังวล จะทำให้เรารู้สึก ตื่นตระหนก กังวล หวาดกลัว หรือรู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเรากำลังจะเผชิญกับบางสิ่งบางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันคือปัญหา หรือสิ่งที่เราไม่คุ้นชิน ซึ่งส่วนมากมักเป็นสิ่งที่มีผลต่อชีวิตของเรา เช่น

  • การเริ่มงานใหม่
  • การย้ายบ้านใหม่
  • การมีลูก
  • การแต่งงาน/หย่าร้าง
  • ได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ

อาการวิตกกังวลยังสามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายสถานการณ์ และคนที่มีความรู้สึกวิตกกังวลมักรู้สึกว่า พวกเขาไม่สามารถผ่อนคลายตัวเองจากสิ่งที่พวกเขาวิตกกังวลได้โดยง่าย

อาการวิตกกังวล เป็นอาการที่พบในหลายๆ โรคทางจิตเวช ซึ่งเป็นอาการที่สร้างผลกระทบต่อบุคคลนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านอารมณ์ความรู้สึก พฤติกรรมการแสดงออก รวมไปถึงอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น ตัวสั่น เหงื่อแตก หัวใจเต้นเร็ว หรือรู้สึกเวียนศีรษะ เป็นต้น

เมื่อเกิดอาการวิตกกังวลขึ้นในระดับต่ำ เราอาจรู้สึก ขุ่นมัว และกังวลใจ ในขณะที่อาการวิตกกังวลที่มีความรุนแรง จะส่งผลต่อความสามารถในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น พยายามหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมบางอย่างซึ่งสร้างความรู้สึกวิตกกังวลให้กับเรา 

ความแตกต่างของอาการวิตกกังวลปกติกับโรควิตกกังวล

อาการวิตกกังวลปกติ

ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน มาจากเรื่องงาน การเงิน สุขภาพ ปัญหาครอบครัว และเรื่องอื่นๆที่เราให้ความสำคัญ โดยความรู้สึกวิตกกังวลจะส่งสัญญาณในรูปแบบของความรู้สึก และการแสดงออกทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น อาการเหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว

โรควิตกกังวล

เมื่อความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นเริ่มทวีความรุนแรง กินระยะเวลานานจนเกินไป และมีการแสดงออกของอาการทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น อาการคลื่นไส้อาเจียน หรือ ความดันโลหิตสูง เป็นสัญญาณที่บอกถึงความไม่ปกติ และ นำไปสู่โรควิตกกังวล

ประเภทต่างๆ ของโรควิตกกังวล

 โรควิตกกังวล ประกอบด้วย โรควิตกกังวลหลายประเภทที่มีความแตกต่างกัน และ ความกลัว ได้แก่

โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalised Anxiety Disorder : GAD)

โรควิตกกังวลทั่วไป เป็นอาการป่วยแบบเรื้อรัง ซึ่งจะมีอาการวิตกกังวลอย่างหนักและยาวนานเกี่ยวกับชีวิตประจำวันทั่วไป ผู้ป่วยที่มีอาการของโรควิตกกังวลแบบทั่วไป มักไม่สามารถระบุถึงสาเหตุของความวิตกกังวลที่ชัดเจนได้ อาการทั่วไปของโรควิตกกังวล ได้แก่

  • ความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ 
  • อ่อนล้า 
  • ร้อนรน 
  • นอนไม่หลับ 
  • ไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งต่างๆได้
  • มีอาการตึงเครียดของกล้ามเนื้อ

โรคแพนิค (Panic Disorder)

โรคแพนิค (Panic disorder) มีลักษณะของอาการคือ เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด อาการแพนิคจะเกิดขึ้นและทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็ว ในผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการแพนิคยาวนานหลายชั่วโมง อาการแพนิค มีดังนี้

  • ทำให้เกิดความรู้สึกสับสน 
  • เหงื่อออก
  • สั่น 
  • รู้สึกคลื่นไส้อาเจียน 
  • เวียนศีรษะ
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • มีปัญหาในการหายใจ

โรคแพนิค มักเกิดจากกังวลสะสมที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานาน หรือภายหลังจากการเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรืออาจเกิดขึ้นโดยไม่มีสิ่งกระตุ้นเลยก็ได้ นอกจากนี้ โรคแพนิคยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้ป่วยคนนั้นๆ เป็นอย่างมากเนื่องจาก ความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพนิคขึ้นอีกในอนาคต

โรคกลัว (Phobia)

พฤติกรรมการหลีกหนี หรือกลัวบางสิ่งบางอย่างแบบไม่สมเหตุสมผล เป็นประเภทหนึ่งของโรควิตกกังวล ซึ่งมีความแตกต่างกับประเภทอื่นๆ ตรงที่ผู้ป่วยโรคกลัว จะรู้ถึงต้นเหตุที่สร้างความหวาดกลัวให้กับพวกเขา แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ก็ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ แม้ว่าจะรู้ว่าความกลัวที่เกิดขึ้นไม่สมเหตุสมผลเลยก็ตาม

โรควิตกกังวลทางสังคม (Social Anxiety Disorder)

โรควิตกกังวลทางสังคม คือ ความกลัวในการที่คนอื่นจะตัดสินเราในทางที่ไม่ดี และความกลัวการเสียหน้าในที่สาธารณะ อารมณ์ที่เกิดขึ้นได้แก่ ความรู้สึกกลัว ความรู้สึกขายหน้า และความรู้สึกตื่นเวที บุคคลที่เป็นโรคนี้มีพฤติกรรมในการหลีกเลี่ยงที่จะติดต่อสื่อสารกับผู้คน หรือแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของพวกเขาเป็นอย่างมาก

โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder : OCD)

โรคย้ำคิดย้ำทำ เกิดขึ้นจากการย้ำคิด หรือการทำบางสิ่งบางอย่างมากเกินไป ส่งผลให้การดำเนินชีวิตประจำวันขาดความสุข ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้คิดซ้ำๆ อาจไม่สมเหตุผลแต่พวกเขาก็ไม่สามารถที่จะหยุดคิด หรือหยุดทำเรื่องนั้นๆที่พวกเขาคิดถึงได้ เช่น การตรวจสอบเตาแก๊ส ตรวจสอบว่าปิดไฟหรือยังบ่อยๆ การล้างมือบ่อยๆ ซึ่งบ่อยจนมากจนเกินไป เป็นต้น

โรคซึมเศร้าหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Post-Traumatic Stress Disorder : PTSD)

โรคซึมเศร้าหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์เลวร้ายที่ส่งผลกระทบทางจิตใจของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เช่น การถูกข่มขืน การไปรบของทหาร การเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง หรือสถานการณ์การปล้นที่มีตัวประกัน มักส่งผลให้ผู้ป่วยมีความคิดวนเวียนอยู่กับเหตุการณ์เก่าๆที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมที่บุคคลผู้นั้นพยายามที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่มากระตุ้นให้คิดถึงเรื่องนั้นๆ 

โรคกลัวการแยกจาก (Separation Anxiety Disorder)

ความรู้สึกหวาดกลัว และวิตกกังวลที่จะต้องแยกจาก มักเกิดขึ้นเมื่อต้องแยกจากสถานที่ หรือบุคคลที่ทำให้พวกเขารู้สึกมั่นคงปลอดภัย ความรู้สึกหลาดกลัวนี้อาจส่งผลให้เกิดอาการแพนิคได้

โรควิตกกังวลเกิดขึ้นจากอะไร

โรควิตกกังวลเกิดขึ้นจากสาเหตุที่ซับซ้อน ได้แก่

  • พันธุกรรม
  • ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม – ความเครียดจากการทำงาน ความเครียดจากความสัมพันธ์ ปัญหาด้านการเงิน ปัญหาด้านการเรียน ความเจ็บป่วยในอดีต หรือภาวะขาดออกซิเจนบนพื้นที่สูง
  • ปัจจัยจากสุขภาพ – ผลข้างเคียงของยาที่ได้รับในการรักษาโรคบางประเภท
  • การใช้สารเสพติด
  • สารเคมีในสมอง

ความวิตกกังวลอาจเกิดจากสาเหตุเดียว หรือหลายสาเหตุรวมกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อเรามีความเครียดจากการทำงาน เราอาจใช้ยาเสพติด หรือสุราในการที่จะช่วยลดความเครียด ซึ่งส่งผลให้ความวิตกกังวลทวีความรุนแรงขึ้น

โรควิตกกังวลสามารถรักษาได้อย่างไร

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตสามารถวินิจฉัยและระบุที่มาของความวิตกกังวลได้ โดยนักจิตจะทำการตรวจสอบประวัติส่วนตัว ในการที่จะเข้ารับการวินิจฉัยโรควิตกกังวลแบบทั่วไปได้ (GAD) บุคคลนั้นจะต้อง

  • รู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมความวิตกกังวลของตัวเองได้
  • ไม่สามารถระบุสาเหตุของการวิตกกังวล และเป็นเช่นนี้ อย่างน้อย 6 เดือน
  • มีอาการของโรควิตกกังวลอย่างน้อย 3 อาการในระยะเวลา 6 เดือน 

นอกจากนี้ ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นยังส่งผลต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถไปทำงาน หรือไปเรียนได้ แพทย์จะทำการวินิจฉัยและระบุว่า เป็นโรควิตกกังวลแบบทั่วไป (GAD) 

วิธีการรักษาโรควิตกกังวล

วิธีที่จะช่วยบำบัดและรักษาอาการของความเครียด และความวิตกกังวล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นของแต่ละบุคคล  ซึ่งวิธีการบำบัดประกอบไปด้วย การบำบัดด้านพฤติกรรม การทำจิตบำบัด การใช้ยา และการสร้างความผ่อนคลาย การบำบัดสามารถทำโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีร่วมกันได้

มีงานวิจัยได้เปิดภายข้อมูลว่า อาการซึมเศร้า การติดสุรา และเงื่อนไขของอาการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อความรุนแรงของโรควิตกกังวลได้ ดังนั้น การควบคุมปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความรุนแรงของโรคจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป

การบำบัดที่มีหลักฐานยืนยันถึงประสิทธิภาพในการรักษาโรควิตกกังวล ได้แก่

การพูดคุยให้คำปรึกษา

การพูดคุยให้คำปรึกษา เป็นวิธีการบำบัดโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ทำการช่วยเหลือผู้ป่วยในการหาวิธีรับมือ และจัดการกับปัญหาของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือปัญหาด้านการจัดการความเครียด ซึ่งเป็นวิธีการบำบัดที่มุ่งผลในระยะสั้น

จิตบำบัด

จิตบำบัด มีหลายประเภท และสามารถนำมาใช้ในการบำบัดโรควิตกกังวลได้ ซึ่งจิตบำบัดมีความแตกต่างกับการพูดคุยให้คำปรึกษา เนื่องจากจิตบำบัดถูกออกแบบมาเพื่อมุ่งผลในระยะยาว นอกจากนี้สามารถใช้ในการจัดการปัญหาได้ครอบคลุมกว่า เช่น ปัญหาด้านพฤติกรรม ทั้งนี้รูปแบบวิธีการบำบัดจะถูกเลือกใช้ตามอาการและความต้องการของผู้ป่วยคนนั้นๆ เป้าหมายที่สำคัญของการทำจิตบำบัดคือ การทำให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับความคิด และอารมณ์ของตัวเองได้ สามารถที่จะควบคุมและจัดการความเครียดที่เกิดขึ้นได้ รับรู้พฤติกรรมของตนเองที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ซึ่งการทำจิตบำบัดที่มีหลักฐานว่าสามารถบำบัดโรควิตกกังวลได้สำเร็จได้แก่ การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (CBT)

การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (CBT)

CBT เป็นการบำบัดระยะสั้นที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจ และสามารถระบุความคิดเชิงลบ หรือความคิดที่ไม่ถูกต้องต่อสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวล เช่น อาการแพนิค ซึ่งสามารถทำได้ทั้งแบบเดี่ยว และแบบกลุ่ม ซึ่งผู้ร่วมทำมีปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ในศูนย์บำบัดโรควิตกกังวล การทำ CBT โฟกัสที่ปัญหาที่เกิดขึ้นช่วยให้ผู้ป่วยจัดการกับความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของพวกเขากลับไปเป็นปกติขึ้น สำหรับผู้ที่มีอาการซึมเศร้าจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD) การรักษาด้วย CBT สามารถช่วยเยียวยาบาดแผลที่เกิดขึ้น โดยการนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มาประมวลใหม่ ระยะเวลาในการทำ CBT อยู่ที่ประมาณโดยเฉลี่ย 1 ชั่วโมง ซึ่งระยะเวลามีความแปรผันจากความรุนแรงของอาการของผู้ป่วย และจะต้องทำต่อเนื่องเป็นเวลา 10 – 15 สัปดาห์

ศูนย์รักษาโรควิตกกังวล เดอะดอว์น เชียงใหม่

ศูนย์รักษาโรควิตกกังวล เดอะดอว์น เชียงใหม่ เราเป็นศูนย์รักษาสุขภาพจิตและภาวะเสพติดชั้นนำของไทย

ปัจจัยด้านความเครียด ความวิตกกังวล และการมีเวลาส่วนตัวที่มีไม่มากนัก ส่งผลต่ออาการของปัญหาด้านสุขภาพจิต ศูนย์รักษาโรควิตกกังวล เดอะดอว์น ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง นอกตัวเมืองเชียงใหม่ มีบรรยากาศเงียบสงบ ห่างไกลจากปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ในชีวิตประจำวัน คุณจะได้สัมผัสกับ ความสวยงามของธรรมชาติ และเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในศูนย์ต่างๆ ทั้งสระว่ายน้ำ และฟิตเนส นอกจากนี้ผู้เข้าทำการบำบัดรักษาทุกท่านจะมีห้องพักส่วนตัว และได้รับการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง จากทีมงานผู้เชี่ยวชาญของเรา คอยให้การดูแลคุณโดยเฉพาะโดยใช้แบบแผนการรักษาที่ผสมผสานระหว่างศาสตร์ตะวันตก และศาสตร์ทางตะวันออก และวิธีการบำบัดรักษาเช่น CBT ซึ่งช่วยให้คุณสามารถโฟกัสกับการรักษาปัญหาด้านสุขภาพจิตของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

หากคุณสนใจในการเข้ารับการรักษาที่ศูนย์สุขภาพจิต เดอะดอว์น เชียงใหม่  ติดต่อแผนกแรกรับของเราวันนี้ เพื่อรับข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนสู่การเข้ารับการรักษาที่ศูนย์ของเรา

ประกาศ

ณ ปัจจุบัน ศูนย์ของเรา ได้ยุติการให้บริการบำบัดภาคภาษาไทย

เดอะดอว์นขอขอบคุณทุกความไว้วางใจมา ณ ที่นี้

ให้เราช่วยคุณเริ่มต้นการเดินทางสู่สุขภาวะที่ดีตั้งแต่วันนี้

โทร: 083 204 8384