เรียนรู้ความโกรธ ที่เป็นต้นสายของวังวนการเสพติดและการเสพซ้ำไม่รู้จบ

“ความโกรธ” ต้นสายของวังวนการเสพติดและการเสพซ้ำไม่รู้จบ

การบำบัดการเสพติดที่แท้จริงคือการทำความเข้าใจกับประสบการณ์และอารมณ์ที่มีส่วนต่อการเสพติดด้วย และหนึ่งในอารมณ์ความรู้สึกอันรุนแรงที่นำไปสู่การพึ่งพิงสิ่งเสพติด นั่นก็คือ “ความโกรธ”

เราส่วนใหญ่มักได้รับคำสั่งสอนมาตั้งแต่เด็กๆ ว่า “อย่าโกรธ” ด้วยความเชื่อที่ว่าความโกรธเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วความโกรธเป็นอารมณ์อันซับซ้อน ซึ่งหากถูกเก็บกดเอาไว้ จะสามารถนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพจิตได้หลายอย่าง ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เราควรสอนลูกหลานของเรา จึงควรจะเป็นว่า “จงรู้จักที่จะโกรธ–ในแบบที่ดีต่อตัวเอง”

ในเรื่องนี้เราจะมาสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างความโกรธและการเสพติด และเหตุผลที่ทำให้ผู้คนที่มีปัญหาการเสพติดมีแนวโน้มที่จะมีความโกรธที่ถูกเก็บกดเอาไว้มากมาย และการที่ความโกรธที่ถูกเก็บเอาไว้เหล่านั้นบ่อนทำลายสุขภาพจิตของเรา ทำให้เราปราศจากความสุข และนำไปสู่ความพยายามในการเยียวยาตัวเองด้วยการพึ่งพิงสิ่งเสพติด การมุ่งเน้นไปที่รากเหง้าของความโกรธ จะเป็นการเปิดประตูไปสู่การเยียวยาทั้งสุขภาพจิตและปัญหาการเสพติด

ความโกรธ อารมณ์อันซับซ้อนและทรงอำนาจ

ตามความหมายพื้นฐาน “ความโกรธ” คือความรู้สึกที่รุนแรงของความไม่มีความสุข ความเป็นศัตรู หรือความไม่ยินยอมพร้อมใจ ซึ่งถูกกระตุ้นโดยสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ในเรื่องการต่อสู้กับสิ่งคุกคาม และเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองในหลายส่วน ความรู้สึกโกรธยังเชื่อมโยงกับความกลัวหรือความเจ็บปวด ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้คนส่วนมากรู้สึกทั้ง “โกรธและเจ็บปวด” ไปพร้อมๆ กัน 

หากอธิบายจากการทำงานของร่างกาย เมื่อบางอย่างที่เราไม่คาดฝันเกิดขึ้น หรือเป็นสิ่งที่เราไม่ยินยอมพร้อมใจ ต่อมอะดรีนาลีนของเราจะหลังสารอะดรีนาลีนและเทสโทสเทอโรน เพื่อเตรียมพร้อมเราสำหรับการต่อสู้ สมองส่วนหน้าจะให้เหตุผลของความโกรธ และชั่งน้ำหนักความรุนแรงของการตอบสนอง โดยการศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่า ความโกรธทำให้เรามีแนวโน้มที่จะกล้าเสี่ยง และยังมีแนวโน้มที่จะคาดเดาผลของการเสี่ยงนั้นในแง่ดี และรู้สึกถึงความอันตรายของสถานการณ์น้อยลง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้หลายคนกระทำการออกไปตามความโกรธ โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา 

แต่ในบางกรณี คนเราก็จะพยายามกดความโกรธเอาไว้ แทนการปลดปล่อยออกไป ความรู้สึกนี้ก็จะเปลี่ยนทิศทางกลับมาที่ตัวเอง และแสดงออกในรูปแบบของอาการซึมเศร้า การวิจารณ์ตัวเอง การทำร้ายตัวเอง หรือการใช้สารเสพติด และบางคนอาจรู้สึกถึงอาการเจ็บปวดทางร่างกายที่หาสาเหตุไม่ได้

และก็ด้วยความหุนหันพลันแล่นที่เกิดจากความโกรธ รวมถึงความปรารถนาที่จะบรรเทาความรู้สึกไม่สบายของความโกรธเหล่านี้เอง ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการเสพติด และทำให้การหยุดการเสพติดยิ่งยากขึ้นไปอีก โดยความโกรธ โมโหฉุนเฉียว อารมณ์รุนแรง เป็นอารมณ์ที่พบได้บ่อยในผู้ที่กลับมาเสพซ้ำ ดังนั้น การเรียนรู้วิธีจัดการและรับมือกับความโกรธ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการยุติการเสพติดได้อย่างยั่งยืน

อะไรทำให้คุณโกรธ

ขั้นตอนแรกในการทำความเข้าใจความโกรธก็คือ การรู้สึกอย่างชัดเจนถึงอารมณ์โกรธของตัวเอง และสิ่งที่ทำให้เกิดความโกรธเหล่านั้น วิธีหนึ่งที่ช่วยได้ก็คือ การทำรายการของสิ่งที่จะช่วยคุณในการเริ่มต้นรับรู้และประมวลผลสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น คุณกำลังโกรธเนื่องจากสถานการณ์ในครอบครัว หรือจากเรื่องที่ทำงาน ลองพิจารณาว่าคุณกำลังโกรธตัวเอง หรือความโกรธของคุณกำลังส่งออกไปข้างนอก

เมื่อคุณระบุได้ถึงสถานการณ์ที่ทำให้คุณโกรธหรือไม่พอใจ จากนั้น ก็เขียนสิ่งที่คุณรู้สึกในขณะนั้นออกมาว่าคุณกำลังรู้สึกว่า…

  • ถูกเข้าใจผิด
  • ถูกมองข้าม
  • ถูกเอาเปรียบ
  • ไม่เป็นที่รัก หรือ ชื่นชอบ
  • ถูกวิจารณ์
  • คุณหรือคนรอบข้าง ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
  • คุณหรือคนรอบข้างกำลังถูกเลือกปฏิบัติ
  • เหนื่อยและอ่อนล้า
  • ไร้ประโยชน์
  • ไม่สามารถทำได้ตามความคาดหวังของตัวเองหรือคนอื่น

การเขียนรายละเอียดออกมาว่า ความโกรธของคุณเกิดขึ้นตรงจุดใด และความรู้สึกใดอยู่เบื้องหลังความโกรธนั้น สามารถช่วยคุณย้อนกลับไปทำความเข้าใจปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น ซึ่งอยู่เบื้องลึกความโกรธของคุณ และวิธีที่จะจัดการหรือเบี่ยงเบนมันไปทางอื่นได้อย่างสร้างสรรค์

ประสบการณ์ความโกรธและการเสพติดในชีวิตจริง

หลายคนอาจไม่รู้สึกถึงการเชื่อมโยงกันระหว่างความโกรธและการเสพติด แต่นั่นก็เป็นเพียงการมองความโกรธอย่างฉาบฉวย เป็นความโกรธที่คนเราหัวฟัดหัวเหวี่ยงและแสดงท่าทีในแง่ลบ แล้วก็หายไปได้เมื่อสิ่งที่ทำให้ความโกรธหายไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความโกรธเป็นอารมณ์ที่ลึกซึ้งกว่านั้น และเป็นสิ่งที่ไม่เพียงแต่บั่นทอนความรู้สึกของเรา แต่ยังเป็นเส้นทางที่นำเราเดินไปสู่การเสพติดได้อย่างง่ายดายโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย

นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังอย่าง ดรูว์ แบร์รี่มอร์ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ตรงในเรื่องนี้ และได้เปิดเผยเรื่องนี้ออกมาได้อย่างตรงจุดที่สุด ในหนังสือสองเล่มที่เธอเขียนเกี่ยวกับตัวเอง Little Girl Lost เป็นบันทึกความทรงจำถึงชีวิตในวัยเด็กของเธอ ที่เป็นดาราเด็กซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ก็ต้องต่อสู้กับการเสพติดมาตั้งแต่เด็ก และ Wildflower ที่เล่าถึงชีวิตอีกหลายแง่มุมในชีวิตตัวเอง ทั้งพ่อที่มีปัญหาติดเหล้าและไม่เคยมีเวลาให้เธอ กับแม่ที่ตามใจเธอทุกอย่าง ไปจนถึงการเข้าคลับบาร์และปาร์ตี้มาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งมีส่วนทำให้เธอเสพติดยาและแอลกอฮอล์มาตั้งแต่อายุน้อยๆ จนถึงกับเคยพยายามฆ่าตัวตาย และต้องเข้าสถานบำบัดเมื่อายุเพียงแค่ 12 ปี

ครั้งหนึ่งในการสัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Guardian ดรูว์เล่าถึงการยอมรับสิ่งที่อยู่เบื้องลึกการเสพติดของเธอ นั่นก็คือความโกรธ

“ตอนอายุ 13 ถือจุดที่ต่ำที่สุดในชีวิตฉันก็ว่าได้” ดรูว์เล่า “ฉันรู้สึกว่าตัวคนเดียวจริงๆ และก็รู้สึกแย่มากๆ ฉันต่อต้านทุกอย่าง อยากวิ่งหนี แล้วก็มีแต่ความโกรธ แต่เมื่อฉันถามตัวเองอย่างจริงจังว่า ‘เธอโกรธอะไรกันแน่’ ฉันก็เริ่มหยุดโกรธ คือถ้าคุณค้นหาลึกลงไปในตัวเอง มันจะเหมือนว่า..ทำไมฉันจึงโกรธอะไรมากมายนัก เอาล่ะ เพราะพ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยหรือ แต่คนตั้งมากก็ไม่มีพ่อแม่นะ แล้วพ่อแม่น่ะบางทีไม่สามารถจัดการอะไรพวกนี้ให้เราได้หรอก แล้วฉันก็เริ่มเข้าใจ”

ดรูว์ให้เครดิตการเข้าสถานบำบัดว่า เป็นสิ่งที่ช่วยให้เธอเผชิญหน้าและจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความสัมพันธ์ของเธอกับพ่อแม่ และสามารถหาจุดสมดุลที่ช่วยเธอดึงเธอขึ้นมาจากวังวนของการเสพติดได้สำเร็จ

โกรธให้เป็น..วิธีรับมือกับความโกรธที่ดีต่อตัวเอง

ความโกรธสามารถเป็นอารมณ์ในแง่บวกได้ เมื่อมันสมดุลกับเหตุผลและความเห็นอกเห็นใจ เป็นแรงจูงใจให้คนเราตอบโต้ในสถานการณ์ที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม หากความโกรธถูกเก็บกดเอาไว้ มันก็อาจบ่อนทำลายและทำให้เราถอยหลังได้

เทคนิคการผ่อนคลายอย่างเช่นการหายใจลึกๆ การออกกำลังกาย และการทำสมาธิ สามารถช่วยหยุดอาการทางร่างกายของความโกรธ และตัดการตอบสนองแบบสู้หรือหนี เพื่อที่คุณจะได้ตอบสนองในแบบสร้างสรรค์ต่อสถานการณ์ แทนการเพิ่มความรุนแรงหรือหันไปใช้สารเสพติด การตอบสนองนี้อาจเป็นการตัดสินใจปล่อยวางในสิ่งที่เกิดขึ้น และก้าวไปข้างหน้า หรือรับรู้ว่าคุณต้องรับมือกับความรู้สึกเหล่านี้ด้วยการแก้ปัญหา หรือการป้องกันมันตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มขึ้นอีก

การคิดหาวิธีที่ดีที่สุดสำหรับคุณในการตอบสนอง อาจทำได้จากการใช้เวลาประมวลความคิดตัวเองเช่น การเขียนบันทึก การพูดคุยกับเพื่อนสนิท หรือการพูดคุยในการบำบัดแบบกลุ่มหรือแบบเดี่ยว หัวใจสำคัญก็คือการจัดการกับความโกรธ ไม่ใช่การเก็บกดความโกรธ แต่รู้สึกถึงความโกรธนั้น รับมือกับมัน และจัดการมันในแบบที่ไม่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อสุขภาพหรือจิตใจตัวเอง

รับมือกับความโกรธและหยุดการเสพติดกับเดอะดอว์น

เดอะดอว์น ช่วยคุณเยียวยาจากการเสพติดไปสู่เส้นทางการเลิกยาที่ยั่งยืน

หากความโกรธนำคุณไปสู่การเสพติด และทำให้คุณตกอยู่ในวังวนของการกลับไปเสพซ้ำอย่างไม่รู้จบ การรับความช่วยเหลือจากมืออาชีพเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ ในการช่วยชี้ให้คุณเห็นถึงต้นตอของปัญหาที่ซ่อนลึกอยู่เบื้องหลังการเสพติดของคุณ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธหรืออารมณ์ใดๆ ในแง่ลบก็ตามที

ทีมงานผู้เชี่ยวชาญและเปี่ยมประสบการณ์ของ ศูนย์บำบัดยาเสพติดและฟื้นฟูสุขภาพจิต เดอะดอว์น เชียงใหม่ มีหลักสูตรการรักษาคุณภาพสูงในการรักษาการเสพติดทั้งสิ่งเสพติดและพฤติกรรมเสพติด รวมไปถึงโรคร่วมซึ่งเกิดจากการเสพติดและเป็นที่มาของการเสพติด ซึ่งจะเน้นไปที่ความสำเร็จในระยะยาว ด้วยวิธีการบำบัดแบบก้าวหน้าที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ และการฟื้นฟูสุขภาพและสุขภาวะเฉพาะบุคคลด้วยวิธีแบบองค์รวมอันเป็นเอกลักษณ์ของเรา

และด้วยทำเลที่ตั้งอันสวยงามและสงบเงียบริมแม่น้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ เดอะดอว์น คือสถานที่อันสมบูรณ์แบบที่จะทำให้คุณห่างไกลจากสิ่งกระตุ้นต่างๆ และได้ใช้เวลามุ่งเน้นกับการบำบัดเยียวยาตนเอง ให้กลับสู่ความปกติสุขโดยไม่หันสู่การเสพซ้ำอีก

ติดต่อแผนกแรกรับของเราวันนี้ เพื่อรับข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนสู่การเข้ารับการรักษาที่ศูนย์สุขภาพจิตของเรา

ประกาศ

ณ ปัจจุบัน ศูนย์ของเรา ได้ยุติการให้บริการบำบัดภาคภาษาไทย

เดอะดอว์นขอขอบคุณทุกความไว้วางใจมา ณ ที่นี้

ให้เราช่วยคุณเริ่มต้นการเดินทางสู่สุขภาวะที่ดีตั้งแต่วันนี้

โทร: 083 204 8384