เรียนรู้วิธีการสนับสนุนคนที่คุณรักหลังออกจากศูนย์บำบัดยาเสพติด เพื่อช่วยส่งเสริมให้เค้านั้นเลิกยาเสพติดได้อย่างยั่งยืน

5 วิธีสนับสนุนคนที่คุณรักหลังออกจากสถานบำบัด

ความรู้สึกโล่งอกเมื่อคนที่คุณรักเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูผู้เสพติดในสถานบำบัดเป็นความรู้สึกอันแสนวิเศษ เช่นเดียวกับความรู้สึกตื่นเต้นเมื่อคนที่คุณรักหวนกลับสู่บ้าน หลังจากเข้ารับการบำบัดแล้ว ในระยะของการฟื้นฟูตัวเองนอกสถานบำบัดนี้ อาจมีความท้าทายบางอย่างแฝงอยู่ ทั้งสำหรับผู้เสพติดและสำหรับคุณเอง การทำความเข้าใจว่าคุณจะช่วยสนับสนุนคนที่คุณรักอย่างไรในช่วงเวลาเช่นนี้ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้คนที่คุณรักฟื้นฟูตัวเองจากการเสพติดได้อย่างยั่งยืนตลอดไป

ในวันแรกที่คนที่คุณรักเดินเข้าประตูบ้านมา หลังออกจากสถานบำบัด คุณอาจมีความคิดมากมายหลายอย่างวิ่งพล่านอยู่ในหัว ไม่ว่าจะเป็น “เค้าจะดีขึ้นหรือเปล่า” หรือ “อะไรๆ จะเหมือนเดิมหรือเปล่า” ไปจนถึง “แล้วถ้าเค้ากลับไปเสพซ้ำอีกล่ะ จะทำยังไง” และ “เราจะไว้วางใจกันได้หรือเปล่า” แน่นอนว่า ถึงแม้คุณจะยินดีกับการโน้มน้าวให้คนที่คุณรักเข้าสู่สถานบำบัดได้ และมีความสุขที่คนที่คุณรักได้กลับมาบ้านอีกครั้ง แต่ก็เป็นไปได้ที่คุณจะรู้สึกไม่แน่ใจหรือหวั่นใจว่าคนที่คุณรักฟื้นฟูตนเองจากภาวะเสพติดได้หรือยัง โดยเฉพาะในระยะแรกๆ ของการออกจากสถานบำบัด

สิ่งแรกที่คุณต้องทำความเข้าใจก็คือ การฟื้นฟูตัวเองจากการเสพติดเป็นกระบวนการที่ยาวนานตลอดชีวิต และต้องใช้เวลาในการที่ผู้เสพติดจะต้องเรียนรู้วิธีการจัดการกับตัวเองในระหว่างกระบวนการนี้ จึงเป็นเรื่องปกติอย่างมากที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในตัวคนที่คุณรัก ทั้งความคาดหวัง เป้าหมายชีวิต พฤติกรรม และแม้กระทั่งบุคลิกภาพของพวกเขา ลองทำตามขั้นตอนพื้นฐานต่อไปนี้ ที่จะช่วยทำให้คุณก้าวผ่านกระบวนสำคัญนี้ไปได้อย่างง่ายดายขึ้น

วิธีที่ 1 คอยอยู่เคียงข้าง

ถึงแม้คนที่คุณรักจะสามารถขอความช่วยเหลือทุกอย่างจากคุณได้ แต่ก็เป็นไปได้ว่าพวกเขายังอาจติดอยู่กับความรู้สึกละอายหรือเสียใจกับเรื่องราวในอดีต และอาจลังเลที่จะขอความช่วยเหลือ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคุณก็คือ การทำให้พวกเขารับรู้ว่าคุณยินดีและพร้อมเสมอที่จะพูดคุย รวมถึงทำสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการออกไปเดินเล่นเป็นเพื่อน หรือกินอาหารด้วยกัน โดยคุณควรถามพวกเขาว่าอยากทำอะไร เนื่องจากกิจกรรมที่พวกเขาชอบทำอาจเปลี่ยนแปลงไปหลังจากการเข้าสถานบำบัดยาเสพติด

ความสมดุลเป็นสิ่งสำคัญทั้งสำหรับคุณและคนที่คุณรักในระหว่างช่วงแรกของการฟื้นฟูตัวเอง หากคุณพยายามมากจนเกินไป คุณก็อาจเกิดความเครียดหรือความหงุดหงิดได้ ขณะที่การคอยถามไถ่บ่อยเกินไป ก็อาจทำให้คนที่คุณรักรู้สึกเหมือนว่าคุณไม่ไว้ใจพวกเขาได้ ควรพูดคุยกันถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการ และจัดเวลาในการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันอย่างเหมาะสม การใช้วิธีแบบค่อยเป็นค่อยไปที่เต็มใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย จะทำให้แน่ใจได้ว่าทุกฝ่ายต่างก็ได้รับการสนับสนุนและความเป็นส่วนตัวอย่างที่ตัวเองต้องการ

วิธีที่ 2 สร้างความเข้าใจ

ทั้งการเสพติดและการฟื้นฟูตัวเองต่างก็มีความซับซ้อนพอๆ กัน และการหาความรู้เกี่ยวกับภาวะสุขภาพที่ร้ายแรงนี้รวมถึงกระบวนการฟื้นฟูตัวเอง ก็จะช่วยให้คุณรู้อย่างชัดเจนมากขึ้นว่า ควรจะคาดหวังอะไรและจะสนับสนุนคนที่คุณรักได้อย่างไร

หลักสูตรการรักษาของสถานบำบัดยาเสพติด เอกชนบางแห่งจะมีองค์ประกอบของครอบครัวบำบัดร่วมด้วย ซึ่งคุณจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการเยียวยาและฟื้นฟูตัวเองของคนที่คุณรักในระหว่างการบำบัด และได้ทำความเข้าใจกับประเด็นสำคัญต่างๆ อย่างเช่น สิ่งกระตุ้นการเสพติดที่อาจเกิดขึ้นได้ ความแตกต่างระหว่างการสนับสนุนและการให้ท้าย และวิธีการรับมือที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจในสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ได้ดีขึ้น หรือคุณอาจลองพูดคุยกับมืออาชีพเกี่ยวกับประเด็นที่มีความสำคัญเป็นพิเศษเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีบางเรื่องที่คุณอาจรู้สึกไม่แน่ใจว่าจะให้การสนับสนุนที่ดีที่สุดได้อย่างไร

วิธีที่ 3 อย่าเอาความคาดหวังของคุณไปกดดันเค้า

คนที่คุณรักกำลังก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชีวิต และตอนนี้พวกเขากำลังฝึกฝนในสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากสถานบำบัดในการจัดการกับตัวเอง และในขณะที่พวกเขากำลังแยกแยะและทำความเข้าใจว่า ต้องใช้วิธีใดในการรับมือแบบไหนกับสิ่งกระตุ้นหรือความเครียดเก่าๆ ที่ได้พบ หรือนิสัยที่ดีต่อสุขภาพแบบไหนที่เหมาะที่สุดกับวิถีชีวิตของตัวเองในตอนนี้ รวมถึงการทำความรู้จักกับตัวตนใหม่ที่ปราศจากการพึ่งพาสารเสพติด พวกเขาก็อาจมีช่วงเวลาที่ดีบ้างร้ายบ้างได้อยู่เสมอ

นอกจากนี้ยังอาจมีปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ อย่างผลของการเสพติดที่กระทบต่อสุขภาพ การเงิน และสัมพันธภาพต่อผู้อื่นในระยะยาว ซึ่งอาจไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเต็มที่ นี่เป็นความจริงอันท้าทายสำหรับผู้ที่กำลังฟื้นฟูตัวเอง รวมถึงสำหรับคนที่รักพวกเขาอย่างคุณด้วย ทั้งนี้การให้กำลังใจต่อพวกเขาในกระบวนการอันยากลำบากนี้ และอย่ากดดันผลการฟื้นฟูของพวกเขา ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสนับสนุนที่คุณสามารถช่วยได้

วิธีที่ 4 เตรียมใจรับแรงปะทะทางอารมณ์

สำหรับผู้ที่เพิ่งหลุดพ้นออกจากการพึ่งพาสิ่งเสพติด การฟื้นฟูในระยะแรกมักเป็นช่วงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์หลายอย่าง ส่วนหนึ่งมาจากสติอันแจ่มใสจากการเลิกใช้สิ่งเสพติด รวมถึงการยอมรับและรับมือกับเหตุการณ์อันเจ็บปวดหรือการสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการเสพติด

แต่ก็ใช่ว่าประสบการณ์ทางอารมณ์ทุกอย่างจะเป็นไปในแง่ลบ และคุณอาจเห็นคนที่คุณรักก้าวผ่านอารมณ์อันหลากหลายอย่างเช่น

  • ความละอาย ความรู้สึกผิด หรือความโกรธเกี่ยวกับอดีต
  • ความสุข หรือความตื่นเต้นของการเริ่มต้นบทใหม่ของชีวิต
  • ความวิตกกังวลต่อสิ่งที่รออยู่ในอนาคต
  • ความขุ่นข้องใจ หรือความสำนึกผิดเกี่ยวกับการกระทำและการตัดสินใจในอดีต

เป็นเรื่องปกติที่ผู้ซึ่งอยู่ในช่วงต้นของการฟื้นฟูตัวเอง จะรู้สึกราวกับว่ากำลังถูกเหวี่ยงขึ้นๆ ลงๆ อยู่บนรถไฟเหาะตีลังกา ซึ่งคุณสามารถช่วยพวกเขาได้ด้วยการรับฟังอย่างตั้งใจและแสดงความเห็นอกเห็นใจ แต่หากคุณสังเกตเห็นว่าแรงอารมณ์กำลังมีบทบาทอย่างมากต่อการตัดสินใจของพวกเขา หรือกำลังเริ่มส่งผลกระทบในแง่ลบต่อชีวิตของพวกเขา ก็ควรต้องยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยกับคนที่คุณรัก และพิจารณาที่จะกลับไปหาผู้เชี่ยวชาญด้านการเสพติดที่ไว้วางใจเพื่อรับความช่วยเหลือเพิ่มเติม

วิธีที่ 5 ขยายขอบข่ายความช่วยเหลือและพื้นที่ปลอดภัย

เนื่องจากการเสพติดเป็นภาวะที่ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพใจและสุขภาพกาย การฟื้นฟูจึงเป็นการจัดการกับสุขภาพของคนๆ นั้นในแบบองค์รวม และการฟื้นฟูมักจะได้ผลดีที่สุดเมื่อขยายขอบข่ายความช่วยเหลือออกไป โดยอาจจะมีทั้งสมาชิกในครอบครัว เพื่อนสนิท มืออาชีพทางการแพทย์ เทรนเนอร์ด้านการออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพ การมีความช่วยเหลือจากหลายๆ กลุ่มในระหว่างการฟื้นฟู จะช่วยลดภาระไม่ให้ไปตกหนักที่คนใกล้ชิดที่คอยดูแล และยังช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับการสนับสนุนแบบรอบด้านอีกด้วย

สิ่งสำคัญอีกอย่างสำหรับคุณก็คือ การรับรู้เมื่อคุณต้องการความช่วยเหลือจากมืออาชีพ หากคุณเริ่มรู้สึกเครียดจนทนไม่ไหวจากการที่ต้องคอยสนับสนุนคนที่คุณรักในระหว่างการฟื้นตัว ก็อาจถึงเวลาที่คุณควรต้องรับคำปรึกษาจากมืออาชีพเช่นกัน การรับความช่วยเหลือจากมืออาชีพจะช่วยให้คุณเข้าใจและประมวลความรู้สึกของตัวเองรวมถึงความท้าทายต่างๆ ได้ และช่วยคุณปลุกพลังตัวเองให้กลับมาอีกครั้งและก้าวไปข้างหน้าได้

การสนับสนุนที่เข้าอกเข้าใจสำหรับผู้เสพติดและคนในครอบครัว ที่เดอะดอว์น

ศูนย์บำบัดยาเสพติด เดอะดอว์น เชียงใหม่ นำครอบครัวบำบัดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิธีการรักษาเพื่อให้ครอบครัวเข้าใจถึงภาวะเสพติดของคนที่รักและพร้อมสนับสนุนพวกเขาหลังจากออกจากการบำบัด

ศูนย์บำบัดยาเสพติด เอกชน เดอะดอว์น เป็นศูนย์บำบัดเอกชนแห่งแรกในเอเชียที่ได้รับการรับรองจาก American Accreditation Commission International (AACI) ซึ่งเป็นองค์กรรับรองมาตรฐานสากล ด้านการให้บริการประเภทสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดและจิตเวช โดยหลักสูตรการบำบัดที่เดอะดอว์นออกแบบมาเป็นพิเศษในการช่วยให้ผู้ที่กำลังมองหาวิธีการเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง ได้เยียวยาและฟื้นฟูตัวเองจากภาวะเสพติด ด้วยการดูแลจากทีมงานมืออาชีพที่มีประสบการณ์สูง เดอะดอว์นจะร่วมสร้างแผนการรักษาที่เหมาะกับความต้องการของแต่ละบุคคลเพื่อการฟื้นฟูที่ดีที่สุด

การให้คำปรึกษาและคำแนะนำสำหรับครอบครัว

การเสพติดสร้างผลกระทบไม่เพียงแต่ผู้ที่เสพติดเอง แต่รวมไปถึงคนรอบข้างด้วย การให้ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในระหว่างกระบวนการฟื้นฟู ส่งผลดีต่อการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน รวมถึงช่วยให้สมาชิกครอบครัวได้เรียนรู้ที่จะเติบโตและเยียวยาตัวเองไปด้วยพร้อมกัน โดยเมื่อใกล้จะจบหลักสูตรการรักษาสำหรับแต่ละคน เดอะดอว์นจะให้สมาชิกครอบครัวได้มีส่วนร่วมในการทำครอบครัวบำบัด โดยการเข้ารับคำปรึกษาพร้อมกับผู้เข้ารับการบำบัด

ติดต่อเราตอนนี้ เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการเข้ารับบำบัดแบบอยู่ประจำที่ศูนย์ของเราและสิ่งที่เราสามารถช่วยในการฟื้นฟูของคุณหรือคนที่คุณรัก เดอะดอว์นจะอยู่เคียงข้างเพื่อช่วยคุณและคนที่คุณรักบนเส้นทางของการเยียวยาตัวเอง

ประกาศ

ณ ปัจจุบัน ศูนย์ของเรา ได้ยุติการให้บริการบำบัดภาคภาษาไทย

เดอะดอว์นขอขอบคุณทุกความไว้วางใจมา ณ ที่นี้

ให้เราช่วยคุณเริ่มต้นการเดินทางสู่สุขภาวะที่ดีตั้งแต่วันนี้

โทร: 083 204 8384