การโกหกในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เป็นครั้งคราว ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่การโกหกซ้ำแล้วซ้ำเล่าหรือ “มโน” แต่งเรื่องราวจนเกินเลย สร้างความทุกข์ทรมานในการดำเนินชีวิตของคุณเองเพราะคุณได้ทำลายความเชื่อใจของคนรอบข้าง แม้อยากจะหยุดก็หยุดไม่ได้ แต่คุณจะทำอย่างไร เมื่อคุณรู้ว่าคุณเองหรือคนที่คุณรักกำลังมีพฤติกรรมเช่นนี้
ความไม่ซื่อสัตย์โดยการโกหกอย่างต่อเนื่องเป็นสัญญาณที่ชัดเจนมากว่า มีบางสิ่งผิดปกติในการสร้างความสัมพันธ์รูปแบบเพื่อนหรือการเป็นคนรัก เนื่องจากความไว้วางใจถือเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของสัมพันธภาพทุกรูปแบบ และการทำผิดต่อความไว้วางใจซ้ำแล้วซ้ำอีกก็เป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงปัญหาที่ร้ายแรงที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจเบื้องลึก การโกหกอาจเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุผลหลายอย่าง และการสืบเสาะเจาะลึกลงไปถึงปัญหาที่เป็นรากเหง้าของความไม่ซื่อสัตย์ เป็นสิ่งสำคัญมากในการรับรู้และยอมรับถึงปัญหา และเริ่มต้นสร้างสัมพันธภาพที่ดีกว่าขึ้นมาใหม่
การโกหกจนเป็นนิสัย (Pathological lying) เป็นความผิดปกติทางจิตใจอย่างหนึ่ง ที่มักเกิดขึ้นร่วมกับปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ การทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะของความผิดปกตินี้ จะสามารถช่วยให้คุณรับรู้ได้เมื่อคนที่คุณรักกำลังมีปัญหากับเรื่องนี้ รวมถึงหาวิธีที่จะช่วยเหลือคนเหล่านั้นได้
การโกหกจนหยุดไม่ได้คืออะไร
การโกหกจนหยุดไม่ได้สามารถอธิบายอย่างกว้างๆ ได้ว่า คือการโกหกอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย และยกระดับการโกหกขึ้นไปเรื่อยๆ โดยคำโกหกเหล่านี้อาจมีหน้าที่แตกต่างกันไป บางครั้งอาจเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของตัวตนให้ดูดีหรือดูน่าเห็นใจ แต่บางครั้งก็ไม่มีจุดประสงค์ที่ชัดเจน โดยลักษณะที่พบกันได้ทั่วไป ได้แก่
- การโกหกโดยปราศจากเหตุผลหรือประโยชน์ใดๆ ถ้าคุณเคยสังเกตเห็นว่าเพื่อนของคุณโกหกเพียงเพราะอยากโกหก นี่ก็ถือเป็นลักษณะที่พบกันได้บ่อยของโรคหลอกตัวเอง และเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าการโกหกนั้นกลายเป็นนิสัย หรือเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นแบบทันที
- การโกหกเต็มไปด้วยรายละเอียดอันซับซ้อน สับสน หรือเกินจริง ถึงแม้บางเรื่องราวจะดูเกินกว่าจะเชื่อได้ แต่สำหรับผู้ที่กำลังเผชิญกับภาวะหลอกตัวเอง พวกเขาก็จะมักพยายามบอกเล่าเรื่องราวในแบบที่น่าเชื่อถือที่สุด
- เชื่อ (หรือดูเหมือนว่าจะเชื่อ) ในคำโกหกของตัวเองว่าเป็นความจริง ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเพราะผู้ประสบกับภาวะโรคหลอกตัวเอง สามารถสร้างคำโกหกขึ้นมาบ่อยครั้งในแบบที่ไม่ต้องพยายาม พวกเขาอาจจำไม่ได้เสมอไปว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องไหนที่ตัวเอง “มโน” ขึ้นมา
- คำโกหกอาจทำให้คนพูดดูเหมือนเป็นฮีโร่ หรืออาจตกเป็นเหยื่อก็ได้ คนที่เป็นโรคหลอกตัวเองมักใช้คำโกหกเพื่อให้ได้รับความเห็นใจหรือความชื่นชม หากคุณสังเกตเห็นคนที่โกหกบ่อยครั้งเกี่ยวกับสุขภาพ ความมั่งคั่งร่ำรวย หรือหน้าที่การงานของตนเอง นี่อาจเป็นสัญญาณว่าพวกเขาเป็นโรคหลอกตัวเอง
การโกหกจนเป็นนิสัยต่างจากการโกหกทั่วไปอย่างไร
การโกหกเล็กๆ น้อยๆ ทั่วไปแตกต่างจากการโกหกจนเป็นนิสัยเป็นอย่างมาก การโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงการทำร้ายจิตใจคนอื่นหรือเพื่อไม่ให้คนอื่นรู้สึกไม่ดี เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในการมีปฏิสัมพันธ์กันในสังคม ตัวอย่างเช่น คุณอาจบอกไปตามจริงก็ได้ว่าทรงผมที่เพื่อนเพิ่งตัดมาใหม่นั้นทำให้เพื่อนดูแย่กว่าตอนไว้ผมทรงเดิม แต่คุณก็ไม่อยากให้เพื่อนรู้สึกเสียเซลฟ์ คุณก็เลยเลือกที่จะบอกว่าผมทรงใหม่นั้นดูดีมากแทน การโกหกเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้เป็นคำโกหกที่ปราศจากเจตนาที่ไม่ดี และโดยทั่วไปแล้วก็เป็นคำโกหกที่ไม่เป็นอันตรายใดๆ
ขณะที่การโกหกจนหยุดไม่ได้นั้น เป็นคำโกหกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องซ้ำแล้วซ้ำอีกและมีความซับซ้อน ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างประวัติส่วนตัวที่ไม่มีความจริงใดๆ เลยขึ้นมา (กรณีของ “นาธาน โอมาน” อันโด่งดังเมื่อหลายสิบปีก่อนเป็นตัวอย่างอันชัดเจนของคำโกหกประเภทนี้)
การแต่งเรื่องว่าเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหาย หรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนดัง หรือการบอกว่าตัวเองป่วยเป็นโรคร้าย และเมื่อถูกถามต่อ คนๆ นั้นก็อาจให้คำตอบที่มีรายละเอียดอันมากมายแต่คลุมเครือ และแม้จะถูกตั้งข้อสงสัยหรือทำให้คนอื่นไม่พอใจจากการขาดข้อมูลที่เป็นจริง ผู้ที่โกหกจนเป็นนิสัยก็ไม่สนใจหรือไม่รู้สึกผิดแม้แต่น้อยที่ถูกจับได้
อะไรทำให้เกิดการโกหกจนหยุดไม่ได้
ในบางกรณี การโกหกรูปแบบนี้เป็นอาการผิดปกติที่เรียกว่า Pseudologia Fantastica หรือภาวะการโกหกที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งอาการหลักๆ ของผู้ที่มีภาวะนี้ก็คือความต้องการที่จะโกหกซ้ำแล้วซ้ำอีกในแบบที่ห้ามตัวเองไม่ได้ ไม่ว่าจะในเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องใหญ่ โดยปราศจากเหตุผลที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม จิตแพทย์พบว่าส่วนใหญ่แล้วการหลอกตัวเองเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพทางจิตอย่างอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (Personality disorders) โดยอาการที่พบบ่อยซึ่งเชื่อมโยงกับการโกหกจนเป็นนิสัยก็คือ
- โรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder) การรู้สึกถึงความสำคัญของตัวเองที่มากจนเกินเลยซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของของโรคนี้ อาจแสดงออกมาด้วยการคุยโวโอ้อวดเกี่ยวกับความสำเร็จของตัวเอง การมีเส้นสาย หรือความสำเร็จในหน้าที่การงาน
- โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) การหลอกตัวเองพบในคนที่ป่วยด้วยโรคย้ำคิดย้ำทำในฐานะที่เป็นหนึ่งในการกลไกการรับมือของพวกเขา ซึ่งใช้เพื่อสร้างการเป็นพันธมิตรกับคนอื่น หรือเพื่อพยายามปกปิดอาการโรคย้ำคิดย้ำทำของตัวเอง
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorders) ผู้ที่มีอาการวิตกกังวลและกลัวการถูกปฏิเสธอาจใช้การหลอกตัวเอง เพื่อเป็นหนทางในการพยายามปกป้องสภาพจิตใจอันอ่อนไหวของตัวเอง
- โรคต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) การหลอกตัวเองถือเป็นอาการหลักอย่างหนึ่งของผู้ที่เป็นโรคนี้ ซึ่งอาจใช้คำโกหกเพื่อสร้างสถานภาพหรือหลอกใช้คนอื่น
ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีทำให้เกิดการโกหกจนเป็นนิสัยได้ อย่างเช่น บาดแผลทางใจในวัยเด็กอาจทำให้ผู้ที่เผชิญกับภาวะนี้ใช้การโกหกเพื่อสร้างตัวตนที่สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเลวร้าย จนกลายเป็นนิสัยที่สืบเนื่องมาจนเป็นผู้ใหญ่ และนักวิทยาศาสตร์บางคนก็เชื่อว่าความแตกต่างของระดับฮอร์โมน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับเทสทอสเทอโรนที่สูงกว่าปกติและคอร์ติซอลที่ต่ำกว่าปกติ อาจส่งผลทำให้บางคนกลายเป็นโรคนี้ได้
เราจะช่วยผู้ที่โกหกจนเป็นนิสัยได้อย่างไร
สำหรับผู้ใหญ่ อาการของภาวะโกหกจนเป็นนิสัยอาจเป็นอาการที่รักษาได้ยาก เนื่องจากการโกหกได้กลายมาเป็นนิสัยที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติไปเสียแล้ว การโกหกสามารถกระตุ้นศูนย์กลางในสมองที่เกี่ยวกับ “การรับมือกับความเสี่ยงและการให้รางวัล” ซึ่งหมายความว่าความตื่นเต้นของการโกหกและความรู้สึกภูมิใจจากความสำเร็จในการโกหกโดยไม่ถูกจับได้ สามารถกลายมาเป็นการเสพติดได้ และการเสพติดประเภทนี้เมื่อรวมกับปัญหาสุขภาพจิตอื่นที่ซ่อนอยู่ สามารถทำให้คนเหล่านี้อาจไม่ยอมเข้ารับการรักษาได้ด้วยตนเอง
ดังนั้น เพื่อนๆ และสมาชิกครอบครัวจึงเป็นผู้ที่สามารถช่วยเหลือ และเป็นแรงสนับสนุนสำคัญสำหรับผู้กำลังเผชิญความทุกข์กับภาวะนี้ ซึ่งหากคุณกำลังพยายามที่จะพูดคุยกับคนที่คุณรักเกี่ยวกับปัญหาการโกหกของพวกเขา สิ่งสำคัญบางเรื่องที่ควรจำเอาไว้ให้ขึ้นใจเหล่านี้ อาจสามารถช่วยคุณในการสื่อสารกับพวกเขาให้ดีขึ้นได้
- นี่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว จำไว้ให้ดีว่าคำโกหกของคนที่มักโกหกจนเป็นนิสัยไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกลวงคุณเป็นการเฉพาะ แต่มันเป็นสิ่งที่คนเหล่านี้ไม่อาจห้ามหรือควบคุมตัวเองได้ และมักต้นเหตุเชื่อมโยงกับปัญหาทางจิตใจบางอย่าง
- ให้การสนับสนุนและมีจุดยืนที่หนักแน่น เป็นเรื่องง่ายมากที่คุณจะหงุดหงิดแล้วก็อารมณ์เสียเวลาที่เผชิญหน้ากับการโกหกอย่างต่อเนื่อง แต่การโมโหไม่ช่วยอะไร และอาจส่งผลในทางตรงกันข้าม ดังนั้นยืนยันจุดยืนของคุณ แต่อย่าใช้อารมณ์
- อย่ามีส่วนร่วมในการโกหก หากคนที่คุณรักเริ่มโกหก คุณสามารถถามคำถามที่จะช่วยหักล้างคำโกหก หรือปฏิเสธที่จะพูดคุยด้วยต่อจนกว่าจะนำความจริงมาพูดคุยกัน ให้พวกเขาได้รู้ว่าคุณยินดีจะสนับสนุนเขา แต่ไม่ยินดีที่จะคล้อยตามคำโกหกใดๆ
- สนับสนุนให้รับความช่วยเหลือจากมืออาชีพ การแสดงความห่วงใยโดยไม่ตำหนิหรือตัดสินเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้คนที่คุณรักรู้ว่า คุณห่วงใยในตัวเขาอย่างแท้จริง การช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับกับการโกหกจนเป็นนิสัยและความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ รวมถึงแนวทางในการแก้ไขและรักษาภาวะนี้ อาจเป็นประโยชน์ในการช่วยพวกเขาในการตัดสินใจที่จะรับการรักษา
หลุดพ้นพันธะการโกหกและพบตัวตนแท้จริงของคุณ ที่ศูนย์สุขภาพจิต เดอะดอว์น
ภาวะการโกหกจนเป็นนิสัยและปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ที่ซ่อนอยู่อาจเป็นอาการที่น่าหวาดหวั่น แต่ศูนย์สุขภาพจิต เอกชน เดอะดอว์น เชียงใหม่ สามารถช่วยเหลือได้ด้วยการใช้จิตบำบัดเพื่อการรักษาสุขภาพจิต เดอะดอว์นเป็นศูนย์รักษาสุขภาพจิตแบบอยู่ประจำ โดยมีเป้าหมายให้ ผู้เข้ารับการรักษารับรู้ถึงสาเหตุของอาการของตนเอง พร้อมกับแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสาเหตุเหล่านี้ และสร้างตัวตนที่แข็งแกร่งขึ้นมาใหม่ โดยความช่วยเหลือจากทีมงานมืออาชีพมากประสบการณ์
หากคุณคิดว่าคนที่คุณรักอาจมีปัญหาภาวะโกหกจนเป็นนิสัย ต้องการให้เขาหรือเธอเข้ารับการรักษาที่ศูนย์สุขภาพจิต เดอะดอว์น ติดต่อเราวันนี้ เพื่อรับข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการเข้ารับการรักษาภายในศูนย์ และเพื่อช่วยเหลือในคนที่คุณรักให้มีชีวิตใหม่และเดินสู่อนาคตอันสดใสได้อีกครั้ง