โคเคน..ยาเสพติดราคาแพง ที่นิยมใช้เพิ่มความบันเทิงในงานปาร์ตี้ของผู้มีอันจะกิน เป็นความสุขชั่วครู่ชั่วยามที่เสพติดง่ายเกินกว่าที่ใครจะคิด และพิษร้ายของโคเคนต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ก็จะทำให้คุณและคนที่คุณรักรอบตัวคุณ..เหมือนกับตกนรกทั้งเป็น
ถึงแม้ในปัจจุบันจะมียาเสพติดใหม่ๆ อีกหลายชนิดที่มาแรงกว่า แต่โคเคนก็ยังถือเป็นยาเสพติดอันตรายลำดับต้นๆ ที่มีภาพลักษณ์ของการเป็น “ยาเสพติดไฮโซ” ซึ่งนิยมเสพกันในหมู่ของผู้มีอันจะกินและผู้คนในแวดวงบันเทิง
โดยในต่างประเทศนั้น มีดาราและคนดังมากมายที่เคยตกเป็นทาสโคเคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าแม่วงการทีวีอย่าง โอปราห์ วินฟรีย์ ดาราระดับเอ-ลิสต์ของฮอลลีวูด เช่น จอห์นนี่ เด็ปป์ เมแกน ฟ็อกซ์ แองเจลิน่า โจลี่ หรือ ดรูว์ แบรี่มอร์ ไปจนถึงนักร้องเบอร์ต้นอย่างเซอร์เอลตัน จอห์น และ วิทนีย์ ฮูสตัน ที่เสียชีวิตเนื่องมาจากการเสพโคเคนเกินขนาดนั่นเอง ทั้งยังมีนักร้องวัยรุ่นอย่าง เดมี่ โลวาโต้ ที่ก็ต้องเข้าสถานบำบัดเนื่องจากติดโคเคนอย่างหนัก และยังมี “โรคร่วม” ทางจิตใจทั้งไบโพล่าร์และอาการผิดปกติทางการกิน
ด้วยข่าวคราวที่พัวพันอยู่กับกลุ่มคนดังเช่นนี้ ทำให้โคเคนได้ชื่อว่าเป็น “ยาเสพติดไฮโซ” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยาเสพติดชนิดนี้ล้วนดึงให้ผู้คนที่มีชื่อเสียงเหล่านี้ ลงสู่จุดต่ำสุดของชีวิต จนอาจเรียกได้ว่า..ตกนรกทั้งเป็น ที่หากไม่ได้รับการบำบัดรักษาแล้ว แต่ละคนก็คงไม่อาจกลับมาผงาดในวงการบันเทิงได้อย่างที่เห็น
โคเคน..จากสารธรรมชาติสู่สารเสพติด
โคคา (Coca) เป็นสารกระตุ้นจากธรรมชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง มีหลักฐานย้อนไปไกลได้ถึง 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ในกลุ่มชาวอินคาที่อาศัยอยู่แถบเทือกเขาแอนดีสในทวีปอเมริกาใต้ และชาวพื้นเมืองในเปรูซึ่งมีวัฒนธรรมการเคี้ยวใบโคคาในช่วงพิธีกรรมทางศาสนา
โคเคนเริ่มระบาดอย่างหนักในช่วงทศวรรษ 1970 ในแวดวงคนบันเทิงและนักธุรกิจ และยิ่งในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อมีโคเคนชนิดใหม่ที่เรียกว่า “แคร็ก (Crack)” ซึ่งเป็นโคเคนแข็งที่ใช้เสพโดยการสูบและมีราคาถูกลง ก็ยิ่งทำให้การแพร่ระบาดของโคเคนเพิ่มมากขึ้น
ในเมืองไทย การแพร่ระบาดของโคเคนคงถือได้ว่าเป็น “วัฒนธรรมนำเข้า” ในกลุ่มชาวต่างชาติและกลุ่มนักเรียนนอกฐานะดี โดยรายงานการศึกษาและวิจัยนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ.2553 ระบุว่า โคเคนเป็นยาเสพติดชนิดใหม่ที่เริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 โดยลักลอบนําเข้ามาจากต่างประเทศ และนํามาจําหน่ายในราคาสูงถึง 2,500-3,000 บาทต่อหนึ่งกรัม ทำให้ภาพลักษณ์ของโคเคนเป็นยาเสพติดที่ “มีเกรด” และยังมีความเชื่อแบบผิดๆ ด้วยว่า มีผลต่อร่างกายน้อยกว่ายาเสพติดอย่างเฮโรอีนหรือยาบ้า ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว โคเคนก็อันตรายเช่นเดียวกับยาเสพติดชนิดอื่น
การเสพโคเคนทำให้เกิดอะไรขึ้นกับเรา
โดยทั่วไปโคเคนมีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ ชนิดที่เป็นผงละเอียดสีขาว นิยมใช้เสพด้วยการสูดดม หรือผสมน้ำฉีดเข้าหลอดเลือดดำ และชนิดที่เป็นผลึกก้อนเรียกว่าแคร็ก ที่มักจะเสพด้วยการสูบ ฤทธิ์ของโคเคนที่ผู้เสพได้รับจะแตกต่างกันไปตามวิธีการเสพ โดยการสูดดมโคเคนอาจไม่สร้างความรู้สึกเคลิบเคลิ้มเป็นสุขได้มากเท่ากับการสูบ แต่ความรู้สึกจะอยู่นาน 15-30 นาที ขณะที่การสูบอาจอยู่ได้แค่ 5-10 นาที
ศูนย์แพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีอธิบายว่า โคเคนจะออกฤทธิ์เหมือนยาบ้า (amphetamine) โดยจะออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้รู้สึกเคลิบเคลิ้ม อารมณ์ดี สนุกสนาน กระปรี้กระเปร่า ไม่รู้สึกเหนื่อย ทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่านี่เป็นการคลายเครียด และช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้นและเร็วขึ้นโดยไม่เหน็ดเหนื่อย
แต่จากรายงานของ National Institute on Drug Abuse ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายจริงๆ ก็คือ หลอดเลือดจะหดตัวลง ม่านตาขยาย อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันเลือดเพิ่มขึ้น และหากใช้ในปริมาณที่สูงขึ้น อาจทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย หงุดหงด วิตกกังวล หวาดระแวง และอาจมีอาการสั่นเทา เวียนศีรษะ และกล้ามเนื้อกระตุก รวมทั้งอาจมีอาการรุนแรง เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และสโตรค ไปจนถึงอาการที่ทำให้เสียชีวิตได้ เช่น หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันและอาการชัก
ผลกระทบจากการใช้โคเคนที่คุณอาจนึกไม่ถึง
การใช้โคเคนอย่างต่อเนื่องนอกจากจะทำให้เกิดการเสพติดแล้ว โคเคนยังส่งผลเสียต่อระบบร่างกายหลายอย่าง ได้แก่
- หัวใจและหลอดเลือด อาจเกิดอาการเจ็บหน้าอกเหมือนจะหัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดสโตรค
- ระบบทางเดินอาหาร ลดการไหลเวียนของโลหิต ทำให้เกิดแผลในระบบทางเดินอาหาร ไม่อยากอาหารซึ่งทำให้น้ำหนักลด และขาดสารอาหาร
- สมอง เช่น เลือดออกในสมอง เส้นเลือดในสมองโป่งพอง การทำงานของสมองเสื่อมถอยลง และอาจเกิดโรคอย่างเช่นพาร์กินสันได้เมื่อใช้โคเคนไปนานๆ
อาการเสพติดเป็นเหตุสังเกตได้
สัญญาณและอาการที่อาจบ่งบอกได้ว่า คนที่คุณรู้จักอาจกำลังใช้โคเคนนั้น มีทั้งอาการทางร่างกาย อาการทางจิตใจ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ดังต่อไปนี้คือ
- อาการทางร่างกาย
อาการที่แสดงขึ้นอยู่กับวิธีการเสพ โดยผู้ที่เสพด้วยการสูดดมอาจมีน้ำมูกไหลอยู่เกือบตลอดเวลา มีเลือดออกทางจมูก จามบ่อย และมีคราบสีขาวรอบจมูก การสูบทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอดอักเสบ (ปอดบวม) และมักมีปัญหาการหายใจ หากใช้การฉีด ก็จะทำให้มีรอยแผลจากเข็มฉีดยา นอกจากนี้ยังมีสัญญาณทางร่างกายอื่น เช่น ตาแดงก่ำ น้ำหนักลด
- อาการทางจิตใจ
มักมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด กระสับกระส่าย วิตกกังวล หวาดระแวง มีอาการกลัว ไม่มีสมาธิ และอาการซึมเศร้า
- พฤติกรรม
การกินการนอนเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีความสนใจในการทำกิจกรรมอื่นๆ นอกจากการเสาะแสวงหายา มีปัญหาทางการเงิน ไม่ใส่ใจในครอบครัว คนรัก หรือเพื่อนๆ แยกตัวออกจากคนอื่น และในขณะเดียวกันก็อาจมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว หรือใช้ความรุนแรง และมีอุปกรณ์เสพยาไว้ในครอบครอง
ระวัง..อาการถอนยาสุดทรมาน
การหยุดการเสพยาหลังจากใช้มาเป็นเวลานาน เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายดายนัก โดยส่วนใหญ่แล้วอาการถอนยาจากโคเคนมักเป็นอาการทางจิตใจ อย่างเช่น
- หงุดหงิด กระสับกระส่าย
- ไม่มีสมาธิ
- อ่อนเพลีย
- ฝันร้าย
- มีอาการโรคแพนิค (อาการตื่นตระหนกโดยไม่มีสาเหตุหรือหาสาเหตุไม่ได้)
- ซึมเศร้า
- มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
บางอย่างอาจให้ความรู้สึกไม่สบายอย่างมาก ทำให้การหยุดยาเป็นไปได้ยาก ดังนั้น จึงเป็นการดีที่สุด หากในช่วงของการถอนพิษยานี้ คุณได้อยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการจัดการกับปัญหาทางจิตใจ และสามารถสั่งจ่ายยาที่จะช่วยบรรเทาอาการของการถอนยาได้
วิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาการเสพติดโคเคน
แม้การพยายามเลิกโคเคนจะยากเย็นนัก แต่โอกาสในการกลับไปเสพใหม่ก็อาจเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย เมื่อคุณต้องเผชิญกับปัญหาหรือสิ่งกระตุ้นแบบเดิมๆ วิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดจึงได้แก่ การหาสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการเสพติด และจัดการกับสาเหตุเหล่านั้น การหยุดการเสพติดที่ยั่งยืนจึงต้องการการดูแลจากมืออาชีพในศูนย์บำบัดยาเสพติด ที่ไม่เพียงแต่จะให้การบำบัดรักษาที่มีประสิทธิภาพแล้ว ก็ยังมักจะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ผู้เข้ารับการบำบัดกลับออกไปด้วยสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์ และไม่กลับไปพึ่งพายาเสพติดอีก
การรักษาด้วยจิตบำบัดเป็นแนวทางที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีในระดับสากล เช่น การบำบัดพฤติกรรมและความคิด (Cognitive Behavioural Therapy) ซึ่งจะสร้างวิธีคิดรูปแบบใหม่เกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ และให้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับปัญหาต่างๆ การบำบัดแบบเสริมสร้างแรงจูงใจ (Motivtion Interviewing) ซึ่งเป็นการสนทนาเพื่อสร้างแรงจูงใจจากภายในและความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง และครอบครัวบำบัดตามหลักซาเทียร์ (Satir Family Therapy) ซึ่งได้แก่การบำบัดภายในจิตใจของบุคคลในครอบครัวตามแนวทางจิตบำบัดแบบซาเทียร์ ซึ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงและเติบโตภายในตัวตน
ศูนย์บำบัดยาเสพติดเดอะดอว์นช่วยคุณได้อย่างไร
ที่เดอะดอว์น เราเข้าใจดีว่าการบำบัดรักษาผู้เสพติดโคเคนที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่เพียงแค่การถอนพิษยาอย่างปลอดภัย หากยังเป็นการจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่ทำให้เกิดการเสพติด ที่จะทำให้คุณไม่กลับไปสู่การเสพติดอีก ด้วยการรักษาด้วยจิดบำบัดโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูง
นอกจากวิธีถอนพิษยาและการรักษาที่มีประสิทธิภาพแล้ว เดอะดอว์นยังให้การดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อคอยติดตามอาการและช่วยเหลือคุณ โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่ใส่ใจคุณอย่างแท้จริง ที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูสุขภาพโดยรวมของคุณทั้งร่างกายและจิตใจ ในสถานที่อันสวยงามและสงบเงียบ ซึ่งช่วยให้คุณได้รู้สึกผ่อนคลายอย่างแท้จริง และอยู่ห่างไกลจากสิ่งกระตุ้นเดิมๆ
หากคุณต้องการความช่วยเหลือให้คนที่คุณรักเข้ารับการบำบัด ติดต่อแผนกแรกรับของเราวันนี้ เพื่อรับข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนสู่การเข้ารับบำบัดที่ศูนย์ของเรา
เพื่อที่คุณจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สะอาดและสดใสต่อไป