ลูกชายติดเหล้ากำลังขอร้องพ่อให้ช่วยลางานให้หน่อยเพราะเค้านั้นเมาค้าง

6 พฤติกรรมของคุณที่กำลังช่วยคนที่คุณรัก ให้เสพติด ต่อไป

ความต้องการที่จะปกป้องคนที่เรารัก ช่วยเหลือพวกเขาเมื่อเขามีปัญหา เป็นเรื่องที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือคนที่เรารักที่กำลังเสพติดอย่างไม่ถูกวิธี จะไม่ช่วยทำให้เค้าหยุดการทำร้ายตัวเองแล้ว แต่ยังเป็นการสนับสนุนให้เค้ามีพฤติกรรมในการเสพติดต่อไป เนื่องจาก เค้าไม่ต้องเผชิญกับผลของการกระทำของตัวเอง ดังนั้นเค้าจึงไม่มีความคิด หรือ ความต้องการที่จะเลิกการเสพติด นั่นเอง

การที่ไม่เข้าไปช่วยเหลือ และปล่อยให้เขาได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากการกระทำของพวกเขาเอง อาจเป็นเรื่องที่ทำยาก แต่หากคุณยังคงช่วยเหลือพวกเขาต่อไป ไม่เพียงแต่คุณอาจจะสูญเสียความสัมพันธ์ของคุณระหว่างเขาแล้ว คนที่คุณรักอาจจะต้องติดคุก หรือมีผลกระทบจากการเสพติดจนมีอันตรายต่อชีวิตของพวกเขา วันนี้เรามาชวนสำรวจ 6 พฤติกรรมที่อาจเป็นการส่งเสริมให้คนที่คุณรักไม่สามารถเลิกเสพติด

1. หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงการเสพติด

พฤติกรรมนี้พบเห็นได้ทั่วไป กับผู้ใกล้ชิดผู้เสพติด เริ่มตั้งแต่ ช่วงที่ผู้เสพติดเริ่มมีพฤติกรรมการเสพติด ไปจนถึงเมื่อพฤติกรรมการเสพติดของเขาเริ่มส่งผลเสียต่อตัวเขา และคนรอบตัว 

การที่เราไม่กล้าที่จะถามคำถามเกี่ยวกับการเสพติด หรือ หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงมันโดยตรงกับผู้เสพติด ซึ่งเป็นคนที่เรารัก อาจมีสาเหตุมาจาก การกลัวที่จะสูญเสียความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวผู้เสพติด กลัวสูญเสียความรักที่เขามีให้กับเรา กลัวว่าจะถูกทำร้ายร่างกาย หรือ อาจมาจากอิทธิพลของวัฒนธรรม หรือการเลี้ยงดู ที่เราเติบโตมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราเติบโตมาในครอบครัว ที่เคยมีคนเสพติด ทำให้คุณไม่อยากที่จะยอมรับความจริงที่ว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณอีกครั้ง และคุณเองก็หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงมัน

การหลีกเลี่ยงที่จะตั้งคำถาม หรือ พูดถึงพฤติกรรมการเสพติด เป็นการปฏิเสธ และไม่ยอมรับความจริงในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งด้วยพฤติกรรมนี้จะทำให้ผู้เสพติดยังคงภาวะเสพติดต่อไปเรื่อยๆ

2. การโทรลางานหรือลาเรียนให้กับผู้เสพติด

การที่เราพยายามจะช่วยผู้เสพติดในการโทรลางานหรือลาเรียนให้กับพวกเขา เนื่องจาก พวกเขาอาจจะขอร้อง และทำให้เรารู้สึกสงสาร หากเราไม่ช่วยโทรลางานให้ อาจทำให้เขาตกงาน หรือมีปัญหาด้านการเรียน เมื่อเรารู้ว่า เขายังคงเมาค้าง หรือมีฤทธิ์ยาเสพติดอยู่ ไปทำงาน ไปเรียนไม่ไหว หรือเพิ่งกลับมาถึงบ้านหลังจากหายไปทั้งคืน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การที่เราโทรลาหรือปล่อยปละละเลยกับผู้เสพติด ทำให้เขาไม่ได้รับผลกระทบที่ควรเป็น และเขาก็จะคงพฤติกรรมนี้ต่อไป เพราะเขารู้ว่า คุณจะช่วยเหลือเขาเสมอ

3. หยิบยื่นเงินให้ หรือให้ยืมเงิน

คนที่มีอาการเสพติด มีแรงจูงใจที่จะใช้เงินไปซื้อยาเสพติดหรือสุรา พวกเขาสามารถสร้างเรื่องโกหกได้อย่างเยี่ยมยอด และ มีทักษะการพูดโน้มน้าวจิตใจที่จะทำให้คุณรู้สึกใจอ่อน เช่น คุณเป็นความหวังเดียวที่จะช่วยเขาได้ เป็นต้น ซึ่งหากคุณให้เขายืมเงิน หรือให้เงินพวกเขาไป เท่ากับว่าคุณได้มีส่วนช่วยในการสนับสนุนให้เขาเสพติดต่อไป

4. ออกค่าใช้จ่ายต่างๆในชีวิตประจำวันให้กับผู้เสพติด

นอกจากที่พวกเขาจะยืมเงินคุณ และยังไม่สามารถคืนได้แล้ว แน่นอนเขาจะมีข้ออ้างมากมายเพื่อมาสนับสนุนว่า เพราะเหตุใด เขาถึงไม่สามารถหาเงินมาคืนคุณได้ และที่น่าสงสารกว่านั้นก็คือ พวกเขาไม่มีเงินพอที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ หรือ ค่าไฟ พวกเขามักจะมาขอความช่วยเหลือจากคุณ ให้ช่วยจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้แทน โดยบอกว่า ถ้าคุณไม่ช่วย เขาจะต้องมีชีวิตที่ลำบาก 

อย่างไรก็ดี การช่วยจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ผู้มีภาวะเสพติดนั้น ทำให้พวกเขาไม่ได้รับผลกระทบกับการบริหารเงินที่ไม่ดี และยังเป็นการสนับสนุนให้พวกเขานำเงินในส่วนที่ควรจะมาจ่ายค่าต่างๆ เหล่านี้ไปกับการซื้อสิ่งเสพติดแทนอีกด้วย

5. ทำเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น

การช่วยกลบเกลื่อนพฤติกรรม เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมในรูปแบบของการปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงในอีกรูปแบบหนึ่ง แม้ว่าคนใกล้ตัวของผู้เสพติด ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว เพื่อน หรือ เพื่อนร่วมงานสามารถสังเกตได้ถึงความผิดปกติจากรูปลักษณ์ภายนอก และพฤติกรรม เช่น จากคนที่ชอบเข้าสังคม ร่าเริง แจ่มใส กลายเป็นคนที่หงุดหงิดง่าย และยากที่จะอยู่ใกล้ๆด้วย หรือ จากเป็นคนคิดบวก กลายเป็นคนขวางโลก หรือ คนที่ดูแข็งแรง กระฉับกระเฉง กลายเป็นคนที่เก็บตัวอยู่แต่ในห้อง และสนใจแต่คอมพิวเตอร์หรือมือถือ หรือ หน้าตาดูอิดโรย น้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างผิดสังเกต ร่างกายทรุดโทรม ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เป็นคนที่ใส่ใจภาพลักษณ์  แต่เราก็ยังคงทำเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือแก้ตัวแทนผู้มีภาวะเสพติด เมื่อมีใครถามถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งการทำเช่นนี้ ทำให้ผู้เสพติดรู้สึกว่าตนมีคนคอยสนับสนุน และคงพฤติกรรมการเสพติดต่อไป โดยไม่พยายามที่จะหาทางเลิกยา หรือ เลิกเหล้า

6. ไม่รักษาคำพูดของตนเอง

บ่อยครั้งที่เมื่อการเสพติดเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น หลายคนพยายามที่จะสร้างกฎ และ ต้องข้อลงโทษกับผู้เสพติดไว้หากไม่ทำตาม เช่น การจำกัดเวลาในการเล่มคอมพิวเตอร์ของวัยรุ่นที่ติดเกมส์​ หรือ ติดการพนันออนไลน์ การจำกัดจำนวนเงินเพื่อไม่ให้เขานำเงินไปซื้อสิ่งเสพติด หรือแม้แต่ การขู่ว่าจะตัดความสัมพันธ์ ถ้ามีการนำเงินที่เก็บสะสมไปเล่นการพนันอีก เป็นต้น

แม้ว่าการรักษากฎจะเป็นเรื่องยาก แต่เราก็จำเป็นที่จะต้องทำตามคำพูดที่เราพูดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผู้เสพติดเข้าใจถึงผลกระทบที่พวกเขาจะได้รับถ้ายังคงพฤติกรรมเสพติดนั้นต่อไป การที่เราไม่รักษาคำพูด ก็จะส่งผลให้ผู้เสพติดไม่เกรงกลัว และรู้ว่าพวกเขาจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ หากยังคงพฤติกรรมเสพติดต่อไป

ถ้าคุณกำลังกลัวว่า พฤติกรรมเสพติดของคนที่คุณรัก กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนคุณรู้สึกว่า อาจจะต้องสูญเสียเขาไปจากครอบครัว ศูนย์บำบัดยาเสพติด เดอะดอว์น สามารถช่วยให้คำแนะนำในการช่วยเหลือคนที่คุณรักได้

รับความช่วยเหลือได้ที่ ศูนย์บำบัด เดอะดอว์น เชียงใหม่

การเข้าบำบัดยาเสพติดที่เดอะดอว์น ช่วยให้ผู้เข้าบำบัดเลิกยาได้อย่างยั่งยืน

ที่ เดอะดอว์น เรามีโปรแกรมการบำบัดภาวะเสพติดแบบองค์รวม ที่สามารถรักษาอาการทางสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นร่วมกับภาวะเสพติดได้ เช่น อาการซึมเศร้า วิตกกังวล และบาดแผลในจิตใจ เราใช้เทคนิคบำบัดที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาแบบเดี่ยวหรือกลุ่ม การบำบัดด้วยเทคนิคจิตบำบัด CBT ร่วมกับการทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะ เช่น การฝึกสมาธิ และโยคะ 

นอกจากนี้ เรายังมีคำแนะนำสำหรับครอบครัว ที่รวมอยู่ในโปรแกรมการบำบัดการเสพติดแล้ว เนื่องจากเราเล็งเห็นว่า คนที่มีส่วนช่วยผู้เสพติดมากที่สุดคือ บุคคลในครอบครัว ซึ่งครอบครัวของผู้เสพติดจะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะเสพติด ซึ่งเป็นความเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่ได้บัญญัติทางการแพทย์ว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง และเรียนรู้วิธีในการช่วยเหลือผู้เสพติดได้ที่เดอะดอว์น ในสัปดาห์สุดท้าย ก่อนผู้เข้าบำบัดเสร็จสิ้นการบำบัด ที่เดอะดอว์น 

จากงานวิจัยพบว่า ผลการรักษาของผู้เสพติดที่มีครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดได้รับผลลัพธ์ที่ดี ผู้เสพติดสามารถที่จะเลิกสิ่งเสพติดนั้นๆ ได้ในระยะยาว

ติดต่อเราวันนี้ เพื่อรับคำปรึกษาในการช่วยเหลือให้คนที่คุณรักกลับไปมีชีวิตที่มีความสุขได้อีกครั้ง ทุกคำปรึกษาของคุณจะถูกเก็บเป็นความลับ

ประกาศ

ณ ปัจจุบัน ศูนย์ของเรา ได้ยุติการให้บริการบำบัดภาคภาษาไทย

เดอะดอว์นขอขอบคุณทุกความไว้วางใจมา ณ ที่นี้

ให้เราช่วยคุณเริ่มต้นการเดินทางสู่สุขภาวะที่ดีตั้งแต่วันนี้

โทร: 083 204 8384