ถึงแม้ว่าคุณจะเป็นคนที่สามารถจัดการความเครียดได้ดี ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ แต่ถ้าคุณต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานเป็นประจำจากอาการวิตกกังวลและความตื่นกลัวที่พุ่งทะยานขึ้นมาอย่างกะทันหันโดยไร้สาเหตุ จนทำให้คุณรู้สึกถึงความผิดปกติทางร่างกาย คุณอาจกำลังถูกจู่โจมจากภาวะที่เรียกว่า “Panic Disorder” ก็เป็นได้
ถึงแม้โดยทั่วไปแล้ว การจู่โจมของอาการแพนิคหรือความตื่นตระหนกแบบกะทันหัน จะไม่มีผลกระทบต่อร่างกายที่ยาวนาน แต่ก็เป็นเรื่องปกติที่อาการเช่นนี้จะทำให้คุณรู้สึกเป็นกังวลกับความคิดที่ว่ามันจะเกิดขึ้นมาอีกเมื่อไร ซึ่งมันจะรบกวนต่อการใช้ชีวิตของคุณ และหากอาการที่คุณเป็นเกิดขึ้นบ่อยครั้งแบบไร้สาเหตุ นั้นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพจิตที่เรียกว่า “โรคแพนิค (Panic Disorder)” แต่ข่าวดีก็คือ คุณสามารถรับมือกับการจู่โจมของอาการแพนิคได้ ด้วยการทำความเข้าใจกับสาเหตุ อาการ และเรียนรู้เคล็ดลับในแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อเกิดอาการ รวมไปถึงแนวทางรักษาที่จะช่วยคุณได้
อาการแพนิคคืออะไรและเกิดขึ้นได้อย่างไร
คำว่า “แพนิค” อาจหมายถึงอาการตื่นตระหนก แต่ในทางการแพทย์แล้ว อาการแพนิคเป็นมากกว่าความตื่นตระหนกธรรมดาที่ทุกคนอาจรู้สึกได้ เมื่ออยู่ในภาวะที่มีความเครียดสูงจนทำให้มีความวิตกกังวลมากเป็นพิเศษ แต่อาการแพนิคเป็นความตื่นตระหนกและความกลัวอย่างรุนแรง ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ที่ส่งผลให้เกิดอาการทางร่างกายที่รุนแรงหลายอย่าง อาการแพนิคมักเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดแบบไร้สาเหตุ โดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า เช่น คุณถูกปลุกตื่นขึ้นมาด้วยเสียงบางอย่างกลางดึก ที่ไม่ได้มีอันตรายใดๆ แต่คุณกลับถูกจู่โจมโดยอาการแพนิคอย่างหนัก เพียงเพราะคุณคิดไปว่าจะมีใครเข้ามาทำร้ายคุณ
โรคนี้สามารถเกิดร่วมกับโรคอื่นได้ เช่น โรคซึมเศร้า โดยสาเหตุที่แน่นอนของอาการแพนิคยังไม่เป็นที่เข้าใจกันอย่างชัดเจน แต่การศึกษาชี้ว่ามันอาจสัมพันธ์กับพันธุกรรม ระดับความเครียด การทำงานของสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล การทำงานผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous system) ซึ่งควบคุมการทำงานหลายอย่างของร่างกาย หรืออาจเป็นความอ่อนไหวของแต่ละบุคคลที่มีต่ออารมณ์ในแง่ลบ
อาการแพนิคเป็นอย่างไร
อาการแพนิคไม่ใช่เพียงแค่ความรู้สึกตื่นตระหนกหรือกลัวแบบทั่วๆ ไป แต่มักเป็นความตื่นกลัวที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง เหมือนกำลังตกอยู่ในอันตราย และควบคุมตัวเองไม่ได้ กระสับกระส่ายหรือเหมือนกับกำลังจะตาย รวมทั้งยังมีอาการทางร่างกายอีกหลายอย่าง ที่มักทำให้คนจำนวนมากต้องรีบไปหาหมอ อาการเหล่านี้ก็อย่างเช่น
- เจ็บหน้าอก
- หายใจลำบาก
- เหงื่อออกมาก
- สั่นเทา
- หนาวสั่น
- ร้อนวูบวาบ
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้
- ปวดเกร็งที่ท้อง
- ลำคอเกร็ง
- อาการชาหรือเป็นเหน็บ
ปกติแล้วอาการต่างๆ จะรู้สึกอย่างรุนแรงอยู่ราว 10-20 นาที แล้วจากนั้นก็จะค่อยๆ หายไป โดยประสบการณ์กับอาการแพนิคของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปได้
อาการแพนิคและโรคแพนิค
บางคนจะเกิดอาการแพนิคที่จู่โจมอย่างกะทันหันเพียงแค่หนึ่งหรือสองครั้งในชีวิต แต่มีบางคนที่เกิดอาการนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติที่เรียกว่า โรคแพนิค (Panic Disorder)
โดยปกติแล้วโรคแพนิคมักเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (ช่วงอายุระหว่าง 18-25 ปี)และมีอาการแพนิคที่จู่โจมอย่างกะทันหันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก รวมถึงมีอาการกลัวหรือวิตกกังวลอย่างต่อเนื่องว่าจะเกิดอาการจู่โจมอีก หากคุณเกิดอาการแพนิคมากกว่าสี่ครั้งโดยไร้ที่มา และกังวลอยู่ตลอดเวลาว่าอาการแพนิคจะกลับมาอีก คุณก็อาจเป็นโรคแพนิค
อาการแพนิคคุกคามชีวิตเราได้อย่างไรบ้าง
ถึงแม้ในปัจจุบัน คนทั่วไปในบ้านเราจะคุ้นเคยกับปัญหาสุขภาพจิตอย่างโรคซึมเศร้ามากขึ้น หากก็อาจยังไม่ตระหนักถึงปัญหาของอาการแพนิคและโรคแพนิคมากนัก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การศึกษาพบว่า โรคแพนิคเป็นโรคในกลุ่มโรควิตกกังวลที่พบได้บ่อย ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง
และเนื่องจากอาการแพนิคมักเกิดร่วมกับปัญหาสุขภาพจิตอย่างเช่นโรคซึมเศร้าได้ เราจึงพบว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจำนวนมากที่มีอาการแพนิคและโรคแพนิค อย่างเช่นคนดังในวงการบันเทิงจำนวนไม่น้อยในบ้านเรา ที่ออกมายอมรับว่าเป็นทั้งโรคซึมเศร้าและอาการแพนิค ล่าสุดก็คือ พิธีกรคนดังอย่าง “วู้ดดี้” วุฒิธร มิลินทจินดา ที่เพิ่งออกมาโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมาว่า “อยากรู้ว่ามีใครเป็น panic attack บ้างไหมครับ? เราเป็นมาจะสองปีแล้วเผื่อจะได้แลกเปลี่ยนกัน” โดยเมื่อปีที่แล้ว วู้ดดี้เคยให้สัมภาษณ์มาแล้วว่า มีอาการแพนิคและซึมเศร้า โดยที่ไม่รู้ตัวเลยในตอนแรก “บางทีขณะจัดรายการอยู่ ก็รู้สึกว่ามันตื้อ ทั้งที่ไม่เคยเป็น ไม่เคยเข้าใจว่ามันคืออะไร”
เช่นเดียวกับนักร้องดัง แอม เสาวลักษณ์ ที่ก็เพิ่งออกมาเปิดใจยอมรับเป็นครั้งแรกว่า ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากว่าสามปีแล้ว โดยการเกิดอาการแพนิคอยู่บ่อยครั้งเป็นสิ่งที่ทำให้เธอต้องไปหาหมอ
“สิ่งที่จับต้องได้เป็นรูปธรรมจริงๆ ที่ทำให้เราตกใจก็คือ สิ่งที่เราเคยทำก็ทำไม่ได้ ปกติเราจะชอบขับรถ แต่พอมันแอทแทคเกิดขึ้นมา มันมีความรู้สึกว่ารถทุกคันจะชนเรา แล้วเราต้องหยุดทุกอย่างเลยในตอนนั้น ขับต่อไม่ได้ ด้านดนตรีอยู่ดีๆ ก็ป๊อด เล่นเปียโนก็ไม่ได้ เล่นกีต้าร์ก็ไม่เป็น ซึ่งมันเริ่มมีผลต่ออาชีพและชีวิตของเรา ส่งผลให้เราเหนื่อยมากขึ้นไปอีก มันบ่อนทำลายเรา”
ส่วนนักแสดงสาวอย่าง ออม สุชาร์ ก็ให้สัมภาษณ์ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ถึงอาการแพนิคที่เกิดขึ้นกับตัวเอง โดยที่ในตอนแรกทำให้เธอคิดไปว่าเธอเป็นโรคร้ายแรงอย่างอื่น “เรารู้สึกหายใจไม่ออก ก็ไปเข้าโรงพยาบาล เป็นทีนึงก็ไปทีนึง ช่วงหนึ่งเรารู้สึกเหมือนจะตาย มีทั้งใจสั่น เหงื่อแตก คือระบบอัตโนมัติทำงานผิดปกติ อย่างเช่นยังไม่เคลื่อนไหวก็เหนื่อยแล้ว”
และการรับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวช ก็ทำให้คนดังเหล่านี้สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ เหมือนอย่างที่ดีเจอ๋องชี้ว่า “จิตเวชก็เหมือนเราเป็นหวัด ไม่สบาย ต้องไปหาหมอเพื่อปรึกษาหาทางออก สารเคมีมันอยู่ในสมอง มันบังคับกันไม่ได้ ถ้ามันผิดเพี้ยนไปก็ต้องรักษา”
กลยุทธ์ในการรับมือกับการจู่โจมของอาการแพนิค
โดยปกติแล้วอาการแพนิคมักจู่โจมโดยที่ไม่รู้ตัวล่วงหน้า หากคุณกำลังทำกิจวัตรตามปกติ ไม่ว่าจะไปซื้อของ ไปโรงเรียน หรือไปทำงาน แล้วจู่ๆ ก็รู้สึกถึงอาการแพนิค มีขั้นตอนที่รวดเร็วสองสามอย่างที่คุณสามารถทำได้ เพื่อช่วยทำให้ร่างกายสงบลง ขั้นตอนเหล่านี้ได้แก่
- เตือนตัวเองว่า สิ่งที่คุณกำลังรู้สึกอยู่นี้คืออาการแพนิคที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน การรับรู้ว่านี่คืออาการแพนิคที่ไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต และมันจะผ่านไปได้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะกำจัดความกลัวว่าจะบาดเจ็บหรือตาย ซึ่งมักเกิดขึ้นมาควบคู่กัน
- หลับตาและหายใจช้าๆ ลึกๆ การปิดกั้นสิ่งกระตุ้นใดก็ตามและตั้งสติอยู่กับลมหายใจของตัวเอง สามารถช่วยหยุดอาการหายใจเร็วเกิน (Hyperventilation) และความรู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก ที่อาจเกิดขึ้นกับอาการแพนิค
- ตั้งสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ท่องบทสวดมนต์ซ้ำๆ หรือกับรายละเอียดบางอย่างที่คุ้นเคยจะช่วยให้คุณหนักแน่นขึ้น และทำให้มั่นใจได้ว่าตัวเองไม่ได้กำลังอยู่ในอันตรายใดๆ
ตัวเลือกการรักษาอาการแพนิค
หากคุณเกิดอาการแพนิคที่จู่โจมซ้ำแล้วซ้ำอีกแบบไม่คาดคิด และเป็นไปได้ว่าคุณจะเป็นโรคแพนิค การเข้ารับการรักษาจะช่วยให้คุณเรียนรู้วิธีรับมือกับโรคนี้ และลดการจู่โจมที่จะกลับมาอีก รวมถึงลดความรุนแรงของอาการ โดยการรักษาบางอย่างที่ได้ผลได้แก่
- การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioural therapy หรือ CBT) การบำบัดที่มีมาอย่างยาวนานนี้ได้ช่วยให้ผู้คนเข้าใจตนเอง และผลกระทบจากการกระทำของตัวเองมากขึ้น เป็นการบำบัดที่ใช้กับปัญหาสุขภาพจิตกหลายอย่าง รวมถึงโรคแพนิคด้วย
- การผ่อนคลายความเครียด การดูแลสุขภาพอย่างเช่นการออกกำลังกาย โยคะ และการทำสมาธิ สามารถช่วยลดการเกิดอาการและความรุนแรงของอาการที่ถูกกระตุ้นจากความเครียด และทำให้สุขภาพจิตโดยรวมดีขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต การสร้างกิจวัตรประจำวันที่มีความสม่ำเสมอ เชื่อมโยงกับการลดลงของอาการแพนิค ซึ่งรวมถึงการนอนให้เพียงพอ และกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงหลีกเลี่ยงสารกระตุ้นอย่าง เช่น คาเฟอีน
การฟื้นฟูคุณภาพชีวิตที่ศูนย์รักษาโรควิตกกังวล เดอะดอว์น เชียงใหม่
อาการแพนิคมักทำให้คุณรู้สึกหมดแรง หมดกำลังใจ รู้สึกตื้อ วิตกกังวล และไม่กล้าที่จะใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ศูนย์สุขภาพจิตเอกชน เดอะดอว์น เชียงใหม่ มีหลักสูตรการรักษาปัญหาสุขภาพจิตที่ช่วยให้คุณเอาชนะอาการแพนิคแอคแทคและกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ด้วยวิธีการที่ผสมผสานระหว่าง วิธีจิตบำบัดที่มีประสิทธิภาพ และการฟื้นฟูสุขภาวะแบบองค์รวมที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี ในการเยียวยาและสร้างผลกระทบในแง่บวกต่อสุขภาพกายและใจในระยะยาว
ท่ามกลางสภาพแวดล้อมเขียวขจีอันสุขสงบและปลอดภัย ของเดอะดอว์น จะช่วยให้คุณคลายกังวลและมีสมาธิจดจ่อกับการรักษาอาการของคุณ
หากคุณต้องการเข้ารับการรักษาโรคแพนิคแบบอยู่ประจำ ที่ศูนย์เดอะดอว์น โทรหาเราวันนี้เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่าเราสามารถช่วยให้คุณได้พบกับความสงบสุขทางจิตใจ และฟื้นฟูคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง