เมื่อความสัมพันธ์ในครอบครัว รุกล้ำขอบเขตและความเป็นส่วนตัวของคุณจนกลายเป็นปัญหา คุณจะต้องทำอย่างไร เรียนรู้ได้จากบทความนี้

ความผูกพันอันเกินขอบเขต…เมื่อสายใยรักกลายเป็นพันธนาการแห่งชีวิต จะรับมืออย่างไรดี

ความผูกพันอันเหนียวแน่นระหว่างคนในครอบครัว เป็นสัญญาณของสัมพันธภาพในครอบครัวที่ดีและมีความสุข แต่บางครั้งคุณก็อาจมีสิ่งดีๆ เหล่านี้มากเกินไปจนกลายเป็นปัญหาก็ได้

โดยปกติแล้ว สิ่งที่เราใช้วัดความแข็งแรงของครอบครัวก็คือ “ความใกล้ชิดสนิทสนม” ซึ่งคือการที่เราแบ่งปันอารมณ์ความรู้สึกลึกๆ ต่อกัน แต่ในบางกรณีความใกล้ชิดสนิทสนมนี้  เกินขอบเขตความเป็นส่วนตัว ก็อาจทำให้อึดอัด และจำกัดการเติบโตและพัฒนาการของตัวตนส่วนบุคคลของสมาชิกในครอบครัวได้

หากคุณรู้สึกถึงสำนึกรับผิดชอบอันใหญ่หลวงต่อความสุขหรือความเป็นอยู่ของครอบครัว หรือรู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา หรือรู้สึกกดดันจากความคาดหวังที่ครอบครัวมีต่อคุณ และความรู้สึกเหล่านี้เป็นสิ่งปกติในครอบครัวของคุณ คุณก็อาจพบกับสัมพันธภาพของครอบครัวที่เรียกกันว่า “ความผูกพันอันเกินขอบเขต (Enmeshment)” ก็เป็นได้

“ความผูกพันอันเกินขอบเขต” คืออะไร

คำว่า “ความผูกพันอันเกินขอบเขต (Enmeshment)” เป็นคำที่ใช้บรรยายถึงการขาดขอบเขตที่เหมาะสมในความสัมพันธ์ ทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย ผลก็คือบทบาทของพ่อแม่และลูกจะมีความสับสน หรืออาจผิดที่ผิดทางโดยสิ้นเชิง และครอบครัวก็ผูกติดกันด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ผิดปกติและไม่เหมาะสม ซึ่งบ่อยครั้งแล้วก็มักจะทำให้เด็กเติบโตมาโดยปราศจากสำนึกของตัวตนหรือความมีอิสระ

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ความผูกพันอันเกินขอบเขตมักจะเกี่ยวข้องกับระดับของการควบคุมอีกฝ่ายหนึ่ง อย่างเช่นในครอบครัวที่พ่อแม่พยายามที่จะรับรู้และควบคุมความคิดและความรู้สึกทุกอย่างของลูก และพ่อแม่เองก็พึ่งพิงทางความรู้สึกกับลูกอย่างมาก หรืออาจกระทั่งพยายามใช้ชีวิตของตัวเองผ่านชีวิตของลูก

ความใกล้ชิดสนิทสนม กับ ความผูกพันอันเกินขอบเขต แตกต่างกันอย่างไร

แน่นอนว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ใกล้ชิดกันเป็นเรื่องดี แต่ความใกล้ชิดสนิทสนมไม่ได้หมายความถึงการเสียสละตัวตนหรือความนับถือตัวเองเพื่อครอบครัว เช่นที่พบได้ในสัมพันธภาพที่มีความผูกพันอันเกินขอบเขต ความใกล้ชิดสนิทสนมนี้เป็นการสนับสนุนกันและกัน ในแบบที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางอารมณ์ของอีกฝ่ายหนึ่ง

ครอบครัวที่ใกล้ชิดสนิทสนมจะมีความสุขในการอยู่ด้วยกัน แต่การอยู่ด้วยกันนั้น ก็ยังคงความเคารพในความต้องการความเป็นส่วนตัวและความเป็นอิสระของสมาชิกคนอื่นในครอบครัว พวกเขาควรจะปล่อยให้อีกฝ่ายมีชีวิตและความสัมพันธ์นอกครอบครัว และมีความสุขกับการกลับมารวมกันเมื่อสามารถทำได้

ครอบครัวที่ใกล้ชิดสนิทสนมกันยังสนับสนุนซึ่งกันและกันในการตามหาความฝันของแต่ละคน และเคียงข้างกันเสมอเมื่อเกิดปัญหาใดก็ตาม แต่จะไม่ใช้ความใกล้ชิดสนิทสนมในครอบครัวเป็นอาวุธหรือเป็นเครื่องมือในการทำให้ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ แต่จะรักและเคารพกันและกันอย่างไร้เงื่อนไข

สัญญาณที่บอกถึงความผูกพันอันเกินขอบเขต

ขอบเขตเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคนในครอบครัว เพื่อที่ทุกคนจะได้สามารถสร้างพื้นที่ของตนเองได้ หากปราศจากขอบเขต บทบาทและความคาดหวังก็จะผสมปนเปกันจนยากจะแยกออก และนี่เป็นสัญญาณของความผูกพันอันเกินขอบเขตที่มักพบได้บ่อย ที่คุณควรมองหา 

  • การมีความรู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลาที่ไม่อาจทำตามความคาดหวังหรือคำขอของครอบครัว
  • ขาดความเป็นส่วนตัว ทั้งในแง่ของพื้นที่ส่วนตัว และเรื่องส่วนตัวทั้งหลาย
  • แรงกดดันที่ต้องทำตามการเรียกร้องหรือความคาดหวังของครอบครัว
  • ขาดความเคารพต่อกัน หรือไม่มีพื้นที่สำหรับความต้องการและการแสดงออกส่วนบุคคล
  • การแบ่งปันกันมากเกินไปจนเป็นปกติ
  • การพึ่งพิงกันอย่างไม่เหมาะสมของพ่อแม่กับลูกๆ ในด้านอารมณ์ จิตใจ หรือการดูแลช่วยเหลือ

ความผูกพันอันเกินขอบเขต บางครั้งมาจากธรรมเนียมปฎิบัติทางสังคมของครอบครัวในวัฒนธรรมตะวันออก บางครั้งอาจเกิดจากบาดแผลทางใจ อาการเจ็บป่วย หรือการเสพติดของคนในครอบครัว ที่ทำให้บทบาทและความสัมพันธ์ปกติระหว่างสมาชิกในครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป

ผลกระทบของความผูกพันอันเกินขอบเขต

ในครอบครัวที่ผูกพันกันจนเกินขอบเขต ความต้องการ ความเชื่อ และความสนใจของคุณมักจะถูกละเลยหรือเก็บกดเอาไว้ ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบในระยะยาวเมื่อคุณก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ หากคุณเติบโตมาในครอบครัวที่มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นแบบไม่ปกติ คุณอาจสังเกตตัวเองว่าอาจมีลักษณะแบบนี้ก็คือ

  • คุณรู้สึกว่าการแยกแยะความชอบหรือคุณค่าของตัวเองเป็นไปได้ยาก
  • คุณมักหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และไม่สามารถพูดคำว่า “ไม่” หรือปฎิเสธคนอื่นได้
  • คุณมีปัญหากับการจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ดี
  • คุณโหยหาการยอมรับ นั่นก็คืออารมณ์ ความรู้สึก และคุณค่าของตัวเอง มักจะขึ้นอยู่กับภาวะทางอารมณ์ของผู้อื่น
  • คุณรู้สึกอึดอัดในการแสดงออกซึ่งความรู้สึก ความต้องการ หรือความปรารถนาที่แท้จริงของตัวเอง และมักคิดไปว่าการแสดงออกของคุณอาจส่งผลในแง่ลบ
  • คุณรู้สึกว่างเปล่า หรือไม่รู้สึกถึงตัวตนภายในของตัวเอง และถึงกับตั้งคำถามว่าคุณเป็นใครจริงๆ

ลักษณะนิสัยเช่นนี้มักจะนำไปสู่สัมพันธภาพที่ไม่ดีกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคนรัก รวมถึงเกิดความรู้สึกต่ำต้อย ขาดความเคารพตัวเอง ซึมเศร้า และวิตกกังวล แต่เมื่อคุณใคร่ครวญและรับรู้ว่า คุณเคยมีประสบการณ์ของความผูกพันอันเกินขอบเขตหรือกำลังอยู่ในภาวะเช่นนี้ ก็จะทำให้คุณสามารถเริ่มกระบวนการสะสางตัวเอง และเริ่มค้นหาตัวตนที่แท้จริงของตัวเองได้

ปลดพันธนาการสู่ความมีอิสระ

การตื่นรู้ต่อความจริงที่ว่า ความสัมพันธ์ในครอบครัวคือสิ่งที่ทำให้คุณไม่รู้จักตัวเอง เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญในการก้าวสู่การค้นพบตัวเองและการยอมรับ ขั้นตอนต่อไป ก็คือการเรียนรู้วิธีที่จะสร้างขอบเขตระหว่างตัวเองและครอบครัว เพื่อที่คุณจะได้มีพื้นที่สำหรับการเติบโตในแบบของคุณเอง และนี่คือสิ่งที่คุณสามารถทำได้ในตอนนี้ เพื่อเริ่มต้นการสร้างพื้นที่สำหรับตัวเอง

  • อย่าตัดสินใจในทันที

คุณเพิ่งได้รับโทรศัพท์จากครอบครัวที่เรียกร้องเวลาจากคุณอีกแล้ว ก่อนที่คุณจะตอบรับในทันทีตามความเคยชิน บอกพวกเขาว่าคุณกำลังยุ่งอยู่ และจะโทรกลับไป นี่จะทำให้คุณมีเวลาในการแยกแยะสิ่งต่างๆ และพิจารณาดูว่าสิ่งที่พวกเขาร้องขอนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นและดีต่อคุณที่ควรจะทำหรือไม่ หรือควรจะปล่อยมันไว้อย่างนั้นดีกว่า

  • หาเวลาสำหรับตัวเอง

ผู้ใหญ่ทุกคนต้องการเวลาที่จะใคร่ครวญหรือฟื้นพลังในแบบที่เหมาะกับตัวเอง หากคุณเติบโตมาในบ้านที่ผูกพันกันแบบไร้ขอบเขต คุณอาจต้องใช้เวลาสักพักหนึ่ง กว่าที่จะคิดออกว่าอะไรที่จะช่วยให้ตัวเองได้ผ่อนคลาย หรือช่วยในการทบทวนอารมณ์ตัวเอง ลองเริ่มต้นด้วยการแบ่งเวลาในแต่ละสัปดาห์เพื่อลองทำกิจกรรมต่างๆ กัน อาจเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างทำอาหารสูตรใหม่ๆ สำหรับตัวเอง การเป็นสมาชิกฟิตเนส การทำสมาธิ การเดินเล่น เล่นเกม หรือสร้างสรรค์งานศิลปะ หากกิจกรรมไหนทำให้คุณรู้สึกพึงพอใจ และรู้สึกสงบจิตใจได้ คุณก็มาถูกทางแล้ว

  • ควบคุมการตัดสินใจของตัวเอง

ในบางจุดของชีวิต คุณอาจหงุดหงิดจากการที่ถูกมองว่า เป็นคนที่ตัดสินใจเองไม่ได้ หรือในอีกทางหนึ่ง ก็อาจเหนื่อยกับการต้องตัดสินใจแทนคนอื่นเป็นประจำ ครอบครัวที่ผูกพันกันอย่างไร้ขอบเขตมักส่งผลให้คุณไม่สามารถตัดสินใจเองได้ หรือถูกบังคับให้ต้องตัดสินใจในสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง การเริ่มต้นตัดสินในเรื่องเล็กๆ ด้วยตัวเอง หรือถอยออกมาจากการตัดสินใจในเรื่องที่คนอื่นควรต้องตัดสินใจเอง เป็นขั้นตอนสำคัญในการสะสางสายใยอันยุ่งเหยิง เพื่อเปลี่ยนรูปแบบของความผูกพันจนเกินขอบเขตนี้

  • ขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพ

บ่อยครั้งที่ความผูกพันอันเกินขอบเขตนี้ไม่อาจแก้ไขได้โดยง่าย เนื่องจากมักเกี่ยวพันกับพฤติกรรมที่ฝังแน่น และมักมีการต่อต้านจากสมาชิกในครอบครัว เหตุผลเหล่านี้ทำให้คนส่วนใหญ่เห็นว่าการขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการปลดพันธนาการของความผูกพันอันเกินขอบเขตนี้ และทำให้สามารถก้าวสู่การค้นพบตัวเองได้ การรับคำปรึกษาจากมืออาชีพจะช่วยให้คุณมีมุมมองเชิงลึก และเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ ที่จะช่วยในการก้าวเดินไปบนเส้นทางของตัวเอง

ทำความรู้จักกับตัวเองที่เดอะดอว์น เชียงใหม่

ศูนย์สุขภาพจิต เดอะดอว์นเชียงใหม่ ช่วยคุณจัดการกับความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อเยียวยาจิตใจและแก้ไขพันธนาการจากความสัมพันธ์ในครอบครัว

หากต้องการความช่วยเหลือในการสะสางตัวเอง เพื่อค้นพบตัวตนที่แท้จริง และหลุดพ้นจากพันธนาการแห่งความรักอันเกินขอบเขตของครอบครัว ศูนย์สุขภาพจิต เอกชน เดอะดอว์น มีทีมงานมืออาชีพที่เชี่ยวชาญในการรักษาสุขภาพจิต โดยใช้เทคนิคจิตบำบัด และครอบครัวครัวบำบัด ซึ่งจะช่วยในการช่วยค้นพบตัวตนของคุณ และทำความเข้าใจกับตัวเองเพื่อที่จะเติบโตต่อไป ผู้เชี่ยวชาญของเราจะร่วมมือกับผู้เข้ารับการรักษา ในการออกแบบแผนการรักษาตามปัญหาเฉพาะของแต่ละบุคคล เพื่อมุ่งหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีในระยะยาว

ติดต่อแผนกแรกรับของเราวันนี้ เพื่อรับข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนสู่การเข้ารับการรักษาที่ศูนย์สุขภาพจิตของเรา

ประกาศ

ณ ปัจจุบัน ศูนย์ของเรา ได้ยุติการให้บริการบำบัดภาคภาษาไทย

เดอะดอว์นขอขอบคุณทุกความไว้วางใจมา ณ ที่นี้

ให้เราช่วยคุณเริ่มต้นการเดินทางสู่สุขภาวะที่ดีตั้งแต่วันนี้

โทร: 083 204 8384